คลังแจงดราม่า กยศ. หักเงิน 3 พัน แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ใน 24 พ.ค.

16 พ.ค. 2568 | 12:57 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2568 | 13:02 น.

คลังแจงดราม่า กยศ. หักเงินเพิ่ม 3 พัน ระบุเข้าข่าย 2.6 แสนบัญชี แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใน 24 พ.ค.นี้ ยันกฎหมายใหม่ ทำให้ผู้กู้ได้ประโยชน์จริง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ขยายระยะเวลาเปิดให้ผู้กู้เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ สำหรับกลุ่มที่ถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ถึงวันที่ 24 พ.ค.68 จากเดิมที่จะสิ้นสุด วันที่ 17 พ.ค.นี้ 

สำหรับลูกหนี้ที่เข้าข่าย เข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้ มีจำนวน 261,073 บัญชี จากจำนวนผู้กู้ยืมที่มียอดค้าง ชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือน 510,716 บัญชี ยืนยันว่า หากลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์นั้น จะไม่หักเงิน 3,000 บาทเพิ่ม และยังลดค่าผ่อนระหว่างงวดด้วย ฉะนั้น จึงขอให้ลูกหนี้เร่งเข้ามาขอปรับโครงสร้างหนี้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“ขอยกตัวอย่างจริงของลูกหนี้ที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ เดิมเป็นหนี้ กยศ. ถึง 279,445 บาท มีภาระผ่อนต่อเดือน 1,620 บาท และหักเพิ่มอีกเดือนละ 3,000 บาท แต่เมื่อผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยอดหนี้ใหม่เหลือเพียง 84,959 บาท ชำระต่อเดือน 480 บาทเท่านั้น โดยไม่ถูกหัก 3,000 บาทด้วย” 

ส่วนกรณีการคืนเงินให้แก่ผู้กู้ยืมที่ชำระเกิน ภายหลังจากที่มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่เสร็จสิ้น เบื้องต้น มีผู้ได้สิทธิรับเงินคืน  2.86 แสนราย คิดเป็นเงิน 3,399 ล้านบาท โดยในปี 67 ก.ย.ศ. ได้จ่ายคืนแล้ว 1,420 บัญชี คิดเป็นเงิน 44.5 ล้านบาท ส่วนปี 68 มีแผนคืนอีก 71,591 บัญชี  วงเงิน 838 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้คืนได้แล้ว 1,182 บัญชี 29 ล้านบาท

“สาเหตุที่คืนล่าช้า เพราะผู้กู้ยืมแจ้งขอประสงค์รับเงินคืนน้อย ล่าสุดมีแจ้งขอคืน 26,463 ราย 426 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นขอให้ผู้กู้ยืมเข้าไปตรวจเช็กข้อมูลชำระหนี้ที่เว็บไซต์ ซึ่ง กองทุนพร้อมจะคืนเงินให้ทันที สำหรับแนวทางในการติดตามทวงหนี้ ยืนยันว่าตั้งแต่ช่วงโควิดมา กยศ.ยังไม่มีการฟ้องหรือบังคับคดี ยกเว้นคดีที่ใกล้หมดอายุความเท่านั้น” 

ทั้งนี้ การดำเนินงานของกองทุนผู้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมฯ ฉบับใหม่ที่เริ่มตั้งแต่ปี 66 เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ และช่วยทำให้หนี้ของผู้กู้ยืมลดลงได้จริง ไม่ได้ทำให้หนี้สูงขึ้นอย่างที่บางคนเข้าใจผิด เพราะกฎหมายใหม่มีการปรับสูตรคำนวณหนี้ใหม่ ลดเบี้ยปรับ พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้กู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทำให้ยอดหนี้ลดลง ผ่อนได้ยาวขึ้น และผ่อนชำระต่อเดือนน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญยังทำให้ผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นจากการรับผิดชอบในการค้ำอีกด้วย

นายลวรณ กล่าวว่า เมื่อ 30 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ทางกยศ.ได้คำนวณยอดหนี้ของผู้กู้ตามกฎหมายฉบับใหม่ ที่มีการตัดเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย และเบี้ยปรับทั้งหมด 3.8 ล้านบัญชี พบว่า

  • กลุ่มคนที่ผ่อนเกินจะได้เงินคืนถึง 2.86 แสนบัญชี วงเงิน 3,399 ล้านบาท 
  • กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลง 3.54 ล้านบัญชี ยอดหนี้ลดลง 46,225 ล้านบาท 
  • กลุ่มมีหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี 
  • กลุ่มที่สามารถปิดบัญชีได้ 80 บัญชี 

ซึ่งจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายใหม่ทำให้ผู้กู้ยืมได้ประโยชน์จริง 

“ปัจจุบัน คนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.ยังไม่เยอะจาก 3.8 ล้านบัญชี เพิ่งมีเข้ามาปรับโครงสร้างเพียง 5.98 แสนราย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้กู้ยืมเร่งเข้ามาติดต่อกับ กยศ.เพื่อเร่งปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งทำได้ทั้งแบบกระดาษ รวมถึงออนไลน์ ซึ่งจะทำให้หนี้ และการผ่อนลดลงแน่นอน”