นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่ได้ดำเนินการสั่งให้ทีมตรวจการกระทรวงฯ ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) ดำเนินการเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นจากพื้นที่อาคาร สตง. เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ที่ผ่านมานั้น ผลตรวจสอบจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ออกมาครบถ้วนแล้ว และพบว่า
มีเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มม. SD40T กรรมวิธีผลิตแบบ IF ยี่ห้อ SKY ตกทดสอบค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหมือนการทดสอบครั้งก่อนเมื่อช่วงต้นเดือน
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะส่งต่อผลการตรวจสอบให้กับดีเอสไอ (DSI) ใช้ประกอบหลักฐานในสำนวนเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงกรณีอาคาร สตง. ถล่ม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการตรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่ได้มีการดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว โดยใช้หลักฐานตามผลตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568
สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานของสถาบันเหล็กฯ เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดไว้ ตกคือตก ผ่านก็คือผ่าน ซึ่งรอบนี้ผลตรวจพบเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มม. SD40T ของผู้ผลิต บริษัท ซินเคอหยวน ตกค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหมือนรอบก่อน
ส่วนเหล็กข้ออ้อย 32 มม. ที่เคยตกค่า yield รอบนี้ผ่านการทดสอบ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการตรวจ ไม่มีการเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ จากนี้บริษัทคงต้องเตรียมคำตอบไว้ชี้แจงตรงกับ DSI ต่อไป
“นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ของภาพรวมการปราบอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญที่กระทรวงบังคับใช้กฎหมายเอาจริงกับธุรกิจที่ไม่สร้างมูลค่าให้กับคนไทย โรงงาน ผลิตเหล็กราคาถูกแต่ตกมาตรฐาน ซึ่งตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาได้ยึดอายัดเหล็กได้ทั้งหมดมูลค่ารวม 384.4 ล้านบาท ล้วนแล้วเป็นแต่เหล็กเส้น IF สำหรับงานก่อสร้าง ผลิตจากเทคโนโลยีเตาหลอมอินดักชั่นทั้งสิ้น”
อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโนโลยี IF ดังกล่าว จึงเป็นเหตุสำคัญทำให้เนื้อเหล็กไม่ได้คุณภาพ จนทำให้กระทรวงฯรัฐมนตรีฯเสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เพื่อพิจารณายกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ต่อไป