สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมที่กระทบกับหลายประเทศรวมถึงไทยที่จะถูกเก็บอัตราษีสูงถึง 37% ของสหรัฐอเมริกา มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นไปนั้น จากข้อมูลการส่งออกปี 2024 พบว่าเอสเอ็มอี (SMEs) พึ่งพาตลาดสหรัฐสูงถึง 20 % ด้วยมูลค่า 7,634 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเอสเอ็มอีมีส่วนแบ่งของการส่งออกไทยไปสหรัฐที่ 14 %
โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกของเอสเอ็มอีลำดับที่ 2 รองจากจีน ขณะที่เอสเอ็มอีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 2,563 ล้านเหรียญ ทำให้เอสเอ็มอีเกินดุล 5,070 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 นี้ เอสเอ็มอียังส่งออกไปสหรัฐมูลค่ารวม 1,440 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.6%
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรกได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 75 % ของ มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอีไปยังสหรัฐทั้งหมด
ส่วนผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีดังกล่าว ประมาณการว่ามูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอี ไปยังสหรัฐ ปี 2568 จะลดลง 1,128 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 38,300 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ จีดีพีเอสเอ็มอี ปี 2568 ลดลง 0.2 % จากที่ สสว. ประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5 %
“ความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย รวมถึงมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าอื่น"
อย่างไรก็ตาม สสว. ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออกเอสเอ็มอีในเบื้องต้นพบว่า มีสินค้า 12 กลุ่มหลัก ที่พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐในระดับสูง (การส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นไปยังสหรัฐเป็นตลาดหลักเกินกว่า 10% และมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ) จะกระทบกับเอสเอ็มอีประมาณ 3,700 ราย ประกอบด้วย
กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เครื่องส่งวิทยุ กล้อง ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และลวดเคเบิ้ล
กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ พลอย และเครื่องประดับเพชรพลอยรูปพรรณ
กลุ่มเครื่องจักรและส่วนประกอบ ได้แก่อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ ก๊อก วาล์ว ส่วนประกอบเครื่องยนต์อากาศยาน
กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โซฟา โคมไฟ อุปกรณ์ส่องสว่าง เฟอร์นิเจอร์การแพทย์
ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เช่น ข้อต่อ ลวดเกลียว สลิง ตะปู สะพานและชิ้นส่วน ประตูน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร
ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถพ่วงและกึ่งพ่วง
ของปรุงแต่งทำจากพืชผักผลไม้ ได้แก่ น้ำผลไม้ ผลไม้ ผักผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม แยม
อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม ได้แก่ สิ่งก่อสร้างทำด้วยอะลูมิเนียม ภาชนะอะลูมิเนียมสำหรับบรรจุก๊าซอัดหรือก๊าซเหลว และของอื่น ๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม
เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ได้แก่ เสื้อกั๊ก เสื้อผ้าของเด็กเล็ก สูท เชิ้ต ถุงมือทุกชนิด เสื้อโอเวอร์โค้ตของบุรุษ ชุดวอร์ม ชุดสกี และชุดว่ายน้ำ
ธัญพืช ได้แก่ ข้าว
กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่แผ่นยางปูพื้น อย่างกันกระแทก ท่อยางอุตสาหกรรม
กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ สัตว์น้ำแปรรูป จำพวก กุ้ง หอย ปู
เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการค้นหาตลาดใหม่และคู่ค้าในภูมิภาค รวมทั้งหาประโยชน์จากกฎเกณฑ์การค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และใช้ฐานการผลิตจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี
นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ทำให้ภาคเอกชนสามารถบริโภคได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และกระตุ้นการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเผชิญกับการไหลบ่าของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่แสวงหาตลาดทดแทนสหรัฐฯ ดังนั้น การเร่งสร้างมาตรการรองรับ รวมถึงการเพิ่มความตระหนักให้ผู้ซื้อพิจารณาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการขาดดุลการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต