ลุ้นฝ่าด่าน “นํ้าท่วมใหญ่” เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายบนความเสี่ยง

15 ก.ย. 2565 | 11:15 น.

ประเทศไทย ณ เวลานี้ได้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีงบ ประมาณ 2565 ของรัฐบาล ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมได้เข้าใกล้โค้งสุดท้ายของปี ท่ามกลางปัจจัยบวก และปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีผันผวน

 

โดยปัจจัยบวกที่สำคัญคือ ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 172,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 5.77 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.5% (กกร.คาดการส่งออกไทยปีนี้จะขยายไตัวได้ 6-8%) มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในสินค้าหมวดอาหาร เช่น ข้าว นํ้าตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ

 

อย่างไรก็ดีภาคการส่งออกของไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังต้องเผชิญปัจจัยลบที่เป็นความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณชะลอตัวลง, ราคาพลังงานยังมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง, การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) และการเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเฉลี่ยอีก 8-22 บาทต่อวันทั่วประเทศตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ย นโยบายที่จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น ส่งผลต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม, ค่าระวางเรือแม้จะมีบางสายเรือปรับตัวลดลง แต่ในภาพรวมยังทรงตัวในระดับสูง และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

 

ลุ้นฝ่าด่าน “นํ้าท่วมใหญ่” เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายบนความเสี่ยง

 

ส่วนภาคการลงทุนที่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน และสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอช่วง 6 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42% ซึ่งยังต้องลุ้นว่าจากที่บีโอไอคาดการณ์ไว้จะมีโครงการขอรับการส่งเสริมจากนักลงทุนไทย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีนี้จะมีมูลค่ามากกว่า หรือใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปี 2564 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 6.42 แสนล้านบาท) จะสามารถทำได้หรือไม่

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่นักลงทุนรายใหม่จากต่างประเทศยังจับตาดูทิศทางการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้เข้ามาลงทุนได้หรือไม่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการ ลงทุนใหม่ที่จูงใจ และยังต้องติดตามว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมไปแล้วก่อนหน้านี้มูลค่าหลายแสนล้านบาทจะเกิดการลงทุนจริงเมื่อใด

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษกิจ ฉบับที่ 3818 วันที่ 15 - 17 กันยายน 2565

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังไทยเปิดประเทศ ล่าสุดช่วง 8 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแล้ว 4.63 ล้านคน และจากที่รัฐบาลได้ขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน (มีผล 1 ต.ค.) คาดปีนี้นักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศได้อีกมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ของรัฐบาลวงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจหมุนเวียนอีกมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายจับตามองสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติออกมาเตือนว่า ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ (ก.ย.-พ.ย.) ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักในรอบ 100 ปี จากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดจะมีพายุเข้าไทยอีก 2-3 ลูก ปริมาณนํ้าฝนจะใกล้เคียงปี 2554 ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดนํ้าท่วมใหญ่ เหมือนในปี 2554

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ณ วันที่ 12 ก.ย.) มี 44 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้านพืชรวม 712,792 ไร่  ในจำนวนนี้เป็นข้าวมากสุด 632,422 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 74,169 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 6,201 ไร่ ด้านประมงได้รับผลกระทบ 21 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 3,176 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าได้รับผลกระทบ 3,878 ไร่ และด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 7 จังหวัด เกษตรกร 3,454 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 783,807 ตัว ซึ่งหากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องความเสียหายจะยิ่งมากขึ้น

 

ยังไม่นับรวมความสุ่มเสี่ยงจากฝนที่ยังตกชุกทั่วประเทศที่อาจลามเข้าท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรมของแต่ละจังหวัด ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 ที่ในปีนั้นนํ้าเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่คิดเป็น 17% ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ขณะที่มีพื้นที่การเกษตรได้ความเสียหายกว่า 11.20 ล้านไร่ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 13.42 ล้านราย คนตกงานกว่า 6.5 แสนคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

 

ภาพเหล่านี้ยังคงตามหลอน และยังมิอาจนิ่งนอนใจได้ แม้สถานการณ์อุทกภัย ณ เวลานี้ยังไม่ใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และต้องบูรณาการแผนรับมือในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเอาให้อยู่ เพราะไม่เช่นนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้