15 ก.ย.นี้ "ศาลปกครองสูงสุด" พิจารณาคดีรฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม

14 ก.ย. 2565 | 23:00 น.

15 ก.ย.นี้ "ศาลปกครองสูงสุด" นัดพิจารณาคดีรฟม. -บอร์ดมาตรา 36 เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสายสีส้มรอบแรก หลังใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

วันที่ 15 กันยายน 2565 เวลา 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน

 

 

 

ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง

สำหรับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีมติเห็นชอบตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ใหม่ สืบเนื่องมาจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจว่า ไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกให้มีความเหมาะสมชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

 

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้ส่งต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ซึ่งในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้มีการประชุมของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และต่อมาได้มีการจัดทำร่างเอกสารปรับปรุงแก้ไขหัวข้อการประเมินข้อเสนอในวันที่ 22 สิงหาคม 2563 โดยได้ปรับปรุงแก้ไขหัวข้อการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพียง 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563กรณีจึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนดังที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันโดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะเดียวกันระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิก การประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อนหรือความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว ศาลฯ จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหาฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นั้น

 

 

 

ศาลฯ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการค้าตามปกติของผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว เมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด