IRPC ปรับกลยุทธ์ ดัน 3 เสาหลัก มุ่งพลังงานสะอาด ลดคาร์บอน 20% ปี 73

12 ก.ย. 2565 | 09:37 น.

IRPC ปรับกลยุทธ์ ขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero Emission ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ปี 2603 ด้วย 3 เสาหลัก ปรับกระบวนการผลิต มุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด ใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า พร้อมร่วมกลุ่ม ปตท. สร้างต้นแบบใช้เทคโนฯดักจับและกักเก็บคาร์บอน ปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียว

 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ภาวะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย IRPC ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20% ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2561 ตั้งเป้าสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และตั้งเป้าหมายสู่องค์กร Net Zero Emission ในปี 2603

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่ Net Zero Company จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ภายใต้ 3 เสาหลัก "ERA" ได้แก่

 

1. Eco-operation & technology การปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในบริษัทฯ ลดการใช้พลังงานผ่านการกำหนดเป้าหมายโดยใช้ดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน (Energy Intensity Index : EII) และเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดทดแทน พร้อมทั้งกำลังดำเนินการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก โดยการลงทุนในโครงการ Solar Rooftop และ โครงการ Solar Farm เพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตในโรงงานต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการแสวงหาพลังงานสะอาด เพื่อมาลดการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาด 307 เมกะวัตต์

 

ทั้งนี้ IRPC ประสบความสำเร็จจากการสร้างสวนโซลาร์ลอยนํ้าในบ่อนํ้าดิบสำรองของบริษัทฯ ขนาดกำลังผลิต 12.5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่รวมกว่า 200 ไร่ ซึ่งได้บูรณาการคุณค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่เสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในด้านสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 9,400 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้บนเกาะเสม็ด ทั้งเกาะ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 8.5 เมกะวัตต์ ในปี 2566

 

IRPC ปรับกลยุทธ์ ดัน 3 เสาหลัก มุ่งพลังงานสะอาด ลดคาร์บอน 20% ปี 73

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามนโยบายของ IRPC ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นโรงงานสีเขียว (Eco Factory) โดยคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในต้นปี 2567 สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 260,000 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจใหม่ๆ ที่ปลดปล่อยคาร์บอนตํ่า

 

2. Reshape portfolio มุ่งแสวงหานวัตกรรมที่ส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนตํ่า ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า เช่น การศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุเคลือบแผง Solar Cell เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และส่วนประกอบอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ราว 8,900 ล้านบาท

 

3. Absorption and offset การชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ดำเนินการร่วมกับกลุ่ม ปตท. 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการปลูกป่า เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ 2.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model

 

สำหรับ CCS เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปีและนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อีก โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต

 

นอกจากนี้ ได้สร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การสร้างคุณค่าเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน (Creating Shared Value) และIRPC ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” เพื่อสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนการแสวงหาธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพร้อมมุ่งไปสู่ Net Zero Emission

 

บริษัทฯ ยังวางกรอบแผนการลงทุนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) อยู่ในวงเงินเดิมที่ 41,350 ล้านบาท เป็นงบลงทุนในปี 2565 ราว 20,692 ล้านบาท เพื่อสร้างสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งในฐานธุรกิจปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมาย EBITDA ในปี 2573 อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ UCF มูลค่าลงทุน 10,458 ล้านบาท ในปี 2565 นี้ จะใช้เงินลงทุนสำหรับโครงการนี้ราว 6,108 ล้านบาท

 

โครงการ Strengthen IRPC เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร มูลค่าลงทุน 1,525 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนในปีนี้ราว 1,200 ล้านบาท โครงการ General& Maintenance ลงทุน 12,421 ล้านบาท และโครงการ Turnaround หรือการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร ลงทุน 2,485 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการใช้เงินลงทุนในปีนี้ราว 4,415 ล้านบาท

 

รวมทั้งโครงการลงทุนทั่วไปและอื่น ๆ 14,461 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาตลาดใหม่ เช่น การเข้าสู่ตลาด Advanced Material สำหรับวัสดุด้านสุขภาพ การแพทย์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Health & Life Science) การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การวิจัยและพัฒนาด้าน Energy Solution ให้สอดรับกับพลังงานในอนาคต (Future Energy)