กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

09 ก.ย. 2565 | 07:55 น.

กรรมาธิการพลังงาน จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่ม 21 โครงการ แนะกำหนดราคารับซื้อเท่ากับ 34 โครงการเดิม“ธารา” เร่งทุกฝ่ายไฟเขียว ชี้หากอนุมัติล่าช้าขยะล้นอีอีซี เผยระยองตกค้างสะสมกว่า 1 ล้านตัน หลุมฝังกลบรับได้อีกแค่ 8 เดือน หวั่นลามกระทบเศรษฐกิจวงกว้าง

 

โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าถือเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยรัฐบาลมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ที่เวลานี้ยังมีความล่าช้า

 

นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ล่าสุด กมธ.การพลังงาน ได้มีการพิจารณาโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. รวม 3 ครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา สรุปความคืบหน้าโครงการได้ดังนี้

 

โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบแล้ว 34 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 324.75 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2565 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569

 

กิตติกร  โล่ห์สุนทร : ภาพจากสภาผู้แทนราษฎร

 

ทั้งนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed – in – Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) สำหรับปี 2565 ได้กำหนดอัตรา FiT อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี และมีอัตรา FiT พรีเมียม ในช่วง 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สำหรับปี 2565 ได้กำหนดอัตรา FiT อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี

 

ขณะเดียวกันยังมีโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท.เพิ่มเติมอีก 21 โครงการ กำลังการผลิต 200.99 เมกะวัตต์ (จำหน่ายไฟฟ้าแล้ว 167.3 เมกะวัตต์) ซึ่งในโครงการดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยยังไม่พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่จะมีในอนาคตจึงเห็นควรให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า และ กกพ.พิจารณาออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าก่อน เพื่อนำอัตราและเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าไปพิจารณาประกอบการกำหนดค่ากำจัดขยะ (Tipping Fee) ที่มีความเหมาะสมและดำเนินการคัดเลือกโครงการต่อไป

 

กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

 

จากกรณีดังกล่าวกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือที่ มท 2820.2/9304 วันที่ 20 ก.ค.2565 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขานุการ กพช.เพื่อพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม หากกระทรวงพลังงานเร่งรัดการดำเนินการแล้วจะทำให้โครงการดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้

 

กรณีที่เกิดขึ้นคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า เรื่องนี้ควรมีการเร่งรัดเวลาในการพิจารณาโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าของ สถ. โดยควรลดระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไม่เกิน 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ในการพิจารณาโครงการของกระทรวงมหาดไทยไม่ควรพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นรายกลุ่มก่อนเสนอให้ กกพ. พิจารณา และ สถ.ควรปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาโดยคำนึงถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯ แต่ละแห่งเป็นหลัก เพื่อให้โครงการที่มีความพร้อมและมีความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการให้ผ่านการพิจารณาอนุมัติเร็วขึ้น

 

กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

 

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าทำตามขั้นตอน และหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยก็ตาม ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ และนำปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลเป็นตัวนำ การพิจารณาโครงการอนุมัติ/อนุญาต ก็สามารถทำให้รวดเร็วได้

 

กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

 

“ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ทยอยส่งโครงการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการต่อ หลังจากที่ได้เห็นชอบแล้ว และส่งให้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง  แต่ผลการดำเนินการกลับมีความล่าช้า โครงการที่ อปท. เสนอมา 34 โครงการ  ต้องรอการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน ทั้ง ๆ ที่ โครงการดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบและส่งเรื่องไปตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่ กพช.เพิ่งเห็นชอบให้รับซื้อไฟ เมื่อ 6 พ.ค.2565

 

ดังนั้นโครงการที่ อปท.เสนอเพิ่มเติมอีก 21 โครงการ กระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ ต้องรอให้กระทรวงพลังงานมีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟใหม่ เรื่องนี้กรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า กพช.ควรประกาศรับซื้อไฟในอัตราเดิม ตามที่ได้ประกาศไป เมื่อ 6 พ.ค.2565 เช่นเดียวกับ 34 โครงการ ที่ กพช. ประกาศไปแล้ว ไม่ควรมีการประกาศใหม่”

 

กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

 

ด้าน นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการการพลังงานฯ และ ส.ส.จังหวัดระยอง กล่าวว่า ปัจจุบันระยองมีขยะที่กำจัดวันละ 1,000 ตันต่อวัน ขยะจะใช้เป็นเพลิงโรงไฟฟ้าขยะ RDF(ขยะสด) ระยะที่ 1 จำนวน 500 ตันต่อวัน เหลือขยะอีกวันละ 500 ตันต่อวัน ที่ยังไม่ได้รับการกำจัด จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปี 2565 ปริมาณขยะจังหวัดระยอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ตันต่อวัน ในอีก 5 ปี และเพิ่มเป็น 1,800 ตันต่อวัน ในอีก 10 ปี  ตามการเติบโตของประชากร

 

ด้วยเหตุนี้ระยองได้จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อกำจัดขยะที่เหลือ และที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่างเห็นชอบให้ อบจ.เร่งรัดดำเนินโครงการฯ และได้เสนอโครงการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา

 

ธารา  ปิตุเตชะ

 

“ควรมีการเร่งรัดออกระเบียบการรับซื้อไฟในส่วนที่ อปท.เสนอเพิ่มเติมมา 21 โครงการโดยเร่งด่วน เพื่อที่ อบจ.ระยอง จะได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาขยะที่เหลืออีก 500 ตันต่อวัน หากการพิจารณาโครงการล่าช้า อบจ.ต้องหาหลุมฝังกลบเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ มีขยะตกค้างสะสมมากกว่า 1 ล้านตัน และหลุมฝังกลบเดิมรองรับขยะได้อีกเพียง 8 เดือนเท่านั้น หากหลุมฝังกลบที่มีอยู่เต็มไม่มีที่ใหม่ ระยองจะกลายเป็นจังหวัดที่ขยะล้นเมืองและจะกระทบวงกว้าง ทั้งการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ที่อยู่ในแผนการพัฒนาเมือง EEC ตามนโยบายรัฐบาลจะย่ำแย่ลง ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อการแก้ไขปัญหาการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการให้เร็วขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาขยะที่ระยอง”นายธารา กล่าว

 

ขณะที่ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงานฯ และ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท.เพิ่มเติม 21 โครงการ ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ กำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. จำนวน 8 โครงการ โครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขมติคณะกรรมการเพื่อเสนอคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย  8 โครงการ โครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขมติคณะกรรมการเพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง 2 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขตามมติคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 1 โครงการ คือ โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของเทศบาลตำบลตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

 

ชูวิทย์  พิทักษ์พรพัลลภ

 

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังรอการพิจารณาอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้การดำเนินการของเทศบาลตำบลตระการพืชผลที่ผ่านได้ดำเนินการจาก อปท.อยู่ในกลุ่มที่ทำการเสนออันดับต้น ๆ แต่การพิจารณาของ สถ.ล่าช้าทำให้โครงการตกหล่น แทนที่จะได้รับการพิจารณาพร้อมกับโครงการอื่นของ อปท.ที่ได้เสนอไป 34 โครงการ ทำให้ต้องรอการพิจารณาร่วมกับ ที่ อปท.อื่น ๆ ที่เสนอเพิ่มเติมมา 21 โครงการ

 

"การพิจารณาของ สถ.ส่งผลให้โครงการของ อปท.ตระการพืชผลตกหล่นมาอยู่ร่วมกับโครงการ ที่ อปท.อื่น ๆ ที่เสนอเพิ่มเติม 21 โครงการ หากการพิจราณาอนุมัติ/อนุญาตล่าช้า มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารของ อปท.และมีการยกเลิกโครงการขึ้นมาจะส่งผลกระทบตามอย่างมาก การทำงานของทีมงาน อปท.และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนจะเสียความรู้สึกอย่างไร ดังนั้นโครงการควรดำเนินการให้รวดเร็ว แต่การพิจารณากลับล่าช้า ติดขัดปัญหาอุปสรรคมากมาย”


กมธ.พลังงานหวั่นขยะล้นอีอีซี จี้ กพช.เร่งรับซื้อไฟ ดัน 21 โครงการแจ้งเกิด

 

ดังนั้นเห็นว่าโครงการที่พิจารณาไม่ควรรอพิจารณาเป็นกลุ่ม โดย อปท.ใดที่มีความพร้อมก็ควรพิจารณาอนุมัติอนุญาต ส่งเรื่องดำเนินการตามขั้นตอน จากการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมาทำงานไม่สอดคล้องกับปัญหา และนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้การกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่การพิจารณา 21 โครงการที่ สถ.จะทำการพิจารณา ยังต้องส่งเรื่องถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเพื่อพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก ทั้งที่อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ควรใช้อัตราเดิมที่ กพช.ประกาศเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ไม่ควรทำการประกาศใหม่ เพราะทำให้โครงการที่ อปท.เสนอมีความล่าช้า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในการกำจัดขยะที่เป็นวาระแห่งชาติ