TPIPP กำหมื่นล้าน ลุยโรงไฟฟ้าขยะ-โซลาร์ฟาร์ม สู่ Net Zero ปี 69

08 ก.ค. 2565 | 07:02 น.

TPIPP กางแผนลงทุน 5 ปี ตั้งงบกว่า 1 หมื่นล้านบาท เลิกใช้ถ่านหิน ดันกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะ และโซลาร์ฟาร์ม ปี 2569 อยู่ที่ 606 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมาย Net Zero ลดการปล่อยคาร์บอนฯได้ 12 ล้านตัน

 

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีนี้ (2565-2569) บริษัทมีแผนการใช้เงินที่แน่นอนแล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะนำมาใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย  การปรับปรุงประสิทธิของหม้อต้มนํ้าของโรงไฟฟ้าโรงที่ 7 ขนาดกำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ที่ยังใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้ขยะอาร์ดีเอฟเป็นเชื้อเพลิงได้ โดยใช้เงินลงทุนราว 800 ล้านบาท ระยะแรกจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปีนี้  และระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เปลี่ยนมาใช้ขยะอาร์ดีเอฟ 100%

 

ภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์

 

อีกทั้ง จะลงทุนเปลี่ยนเชื้อเพลิงถ่านหินของโรงไฟฟ้าที่ 8 กำลังผลิตขนาด 150 เมกะวัตต์ มาเป็นขยะอาร์ดีเอฟ ใช้เงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการนี้ จะส่งผลให้โรงไฟฟ้าของบริษัทเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงขยะอาร์ดีเอฟทั้งหมด

 

ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนถ่านหินมาใช้เชื้อเพลิงขยะ ทำให้บริษัทต้องลงทุนในการจัดหาขยะอาร์ดีเอฟเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องสร้างโรงงานขยะอาร์ดีเอฟอีก 5 สายผลิต กำลังผลิต ประมาณ 4,500 ตันต่อวัน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้อีกราว 1,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2566

 

TPIPP กำหมื่นล้าน ลุยโรงไฟฟ้าขยะ-โซลาร์ฟาร์ม สู่ Net Zero ปี 69

 

บริษัทยังได้งานประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว จะก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2568 ใช้เงินลงราว 1,745 ล้านบาท รวมถึงงานประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 1,830 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2568 เช่นกัน 

 

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ในจังหวัดสระบุรี ขนาดกำลังผลิต 42 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือTPIPL ใช้ในกิจการในปี 2566 ใช้เงินลงทุนอีกราว 1,400 ล้านบาท

 

“ปัจจุบันบริษัทยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี จากโรงไฟฟ้ที่ใช้ถ่านหิน กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 220 เมกะวัตต์ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 7.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หักลบแล้วกับว่าบริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเมื่อเปลี่ยนถ่านหินมาใช้ขยะอาร์ดีเอฟทั้งหมดแล้ว และกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามา ที่มีเป้าหมายกำลังผลิตรวมทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 606 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่าการดำเนินงานของบริษัทบรรลุเป้าหมาย NetZero Carbon  ในปี 2569 แล้ว”

 

นายภัคพล กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาหรือลงทุนโครงการในอนาคตนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569

 

ภายใต้มตินี้ บริษัท มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลอีก 8 โครงการ เป็นขนาดกำลังผลิต 8 เมกะวัตต์ 7 โครงการ และเป็นเอสพีพีอีก 1 โครงการ กำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการออกหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในช่วงเร็ว ๆ นี้

 

 อีกทั้ง กพช.เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม 3,368 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความสนใจเข้าดำเนินงาน โดยได้มีการหารือกับทางพันธมิตรแล้ว เนื่องจากในกลุ่มของทีพีไอ มีพื้นที่ราว 1.5 หมื่นไร่ อยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ระยอง และสระบุรี รองรับการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มได้กว่า 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งเร็วๆ คาดว่าจะสรุปแผนการลงทุนได้ว่าจะยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าได้ในปริมาณที่เท่าใด

 

รวมถึงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 200 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 1,500 เมกะวัต์ บริษัท ก็มีความสนใจเข้าไปลงทุน โดยอยู่ระหว่างขั้นการศึกษาในรายละเอียด

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเริ่มต้นจากการติดตั้งให้บริการกับรถบรรทุกในเหมือง ปูนซีเมนต์ของบริษัท TPIPL จำนวน 26 คันที่จะเปลี่ยนเป็นอีวีในสิ้นปีนี้ และภายในปี 2568 รถที่อยู่ในเหมืองทั้งหมด ต้องเป็นอีวี ที่จะต้องลงทุนตั้งสถานีชาร์จรองรับไว้ 40 สถานี