“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนยก 3 สนามบิน ดันทอท.บริหารแทนกรมท่าอากาศยาน

05 ก.ย. 2565 | 00:00 น.

“ศักดิ์สยาม” เล็งพิจารณาความเห็นคลัง หลัง ครม. ไฟเขียวหลักการให้ ทอท. บริหาร 3 สนามบินแทน ทย. “อุดรฯ-บุรีรัมย์-กระบี่” สั่ง ทอท.ศึกษาตีมูลค่าทรัพย์สิน โกยเงินเข้ากองทุนหมุนเวียน ทย. คาดเริ่มใช้ประโยชน์พื้นที่ ช่วงต้นปี 66

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) คือ 1.อุดรธานี 2.บุรีรัมย์ และ 3.กระบี่ ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป โดยคาดว่า ทอท. จะเริ่มทยอยเข้าไปให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2566

“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนยก 3 สนามบิน ดันทอท.บริหารแทนกรมท่าอากาศยาน

 

 

สำหรับรูปแบบการดำเนินการของ ทอท. ในการเข้าไปบริหารจัดการ 3 ท่าอาอากาศยานแทน ทย.นั้น ทอท.จะต้องไปดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่าอากาศยานจากกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พร้อมทั้งไปดำเนินการตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) เพื่อนำมูลค่าวงเงินดังกล่าว เข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานให้มีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายว่า จะต้องไปศึกษาวิธีการบริหารให้รอบคอบ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแนวทางข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าว ต้องการกระจายความหนาแน่นของผู้โดยสารไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ ที่มีศักยภาพ จากในปัจจุบันจะกระจุกตัวอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยนโยบายของตน ไม่เพียงแค่ดำเนินการเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ (International) เท่านั้น แต่เส้นทางภายในประเทศ (Domestic) ก็จะไม่ต้องมีต้นทางที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จึงมีเส้นทางบินข้ามภาค เช่น เส้นทางนครราชสีมา (โคราช)-หัวหิน, โคราช-เชียงใหม่ เป็นต้น

 

“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนยก 3 สนามบิน ดันทอท.บริหารแทนกรมท่าอากาศยาน

 

“การให้ ทอท.เข้าไปบริหาร 3 สนามบิน ทย. คือ ตอนนี้ ครอบครองโดย ทย. ก็เปลี่ยนไปให้ ทอท. ครอบครอง ซึ่งขอย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเข้มแข็ง และไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ในยุคก่อนๆ ก็มีการศึกษาไว้เหมือนกัน แต่ตอนนั้นเป็น 4 สนามบิน นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า ไทยมีมาตรฐานทางการบิน เห็นได้จากเมื่อ ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา จีนได้อนุญาตให้ไทยทำการบินจาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 15 เที่ยวบิน/สัปดาห์” 
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ทอท.ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงา เปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ)

 

“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนยก 3 สนามบิน ดันทอท.บริหารแทนกรมท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี กรอบวงเงินลงทุน 3,523 ล้านบาท, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่ แบ่งเป็น วงเงินลงทุน 5,216 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) และกรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ วงเงินลงทุนจะอยู่ที่ 6,487 ล้านบาท โดยการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย. จะเป็นการเพิ่มการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย. ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (Local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) ในอนาคต