ลุ้นทอท.ชงครม.ไฟเขียวแผนโอนบริหาร 3 สนามบิน

22 มิ.ย. 2565 | 23:00 น.

ทอท.เดินหน้าจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม หลังครม.ตีกลับแผนโอนย้าย 3 สนามบิน ชงครม.เคาะแผนฯ ภายในเดือนนี้เล็งเจรจาทย.จ่ายเงินชดเชย-ถ่ายโอนใบอนุญาต ลุยเทคโอเวอร์ใช้สิทธิ์บริหารภายในปี 65 เตรียมจับคู่สนามบิน เพิ่มศักยภาพขนส่งทางอากาศ

รายงานข่าวจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ ที่ผ่านมาทอท.ได้เสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ได้รับทราบว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดทำข้อมูล คาดว่าจะส่งข้อมูลแผนดังกล่าวกลับไปที่ ครม.อีกครั้งภายในเดือนนี้ 

 

 

“ก่อนที่จะนำแผนฯเสนอเข้าที่ประชุมครม.นั้น จะต้องขอรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน หากไม่มีเรื่องที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมก็สามารถเสนอเข้าครม.ได้เลย เพราะครม.จะต้องสอบถามถึงความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง”

 

 

รายงานข่าวจากทอท. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาท่าอากาศยานทั้ง  3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี,กระบี่ และบุรีรัมย์ ได้มีการขอใบอนุญาตท่าอากาศยานแล้ว หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการในการถ่ายโอนใบอนุญาต ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อดำเนินการพิจารณาเงินชดเชยให้แก่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) คาดว่าจะดำเนินการเจรจาแล้วเสร็จภายในปี 2565 รวมทั้งทอท.มีระยะเวลา 3 เดือนในการเตรียมความพร้อมเข้าไปบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง และให้พนักงานของทอท.เข้าไปทำงานทันที

“หลังจากทอท.เข้าไปบริหารทั้ง 3 สนามบินแล้ว เชื่อว่าเป็นการเพิ่มน่านฟ้าในการให้บริการ เนื่องจากในปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของทอท.ทั้งในแถบภาคเหนือและภาคใต้ แต่ยังไม่มีท่าอากาศยานที่อยู่ในแถบภาคอีสาน ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีประชากรเยอะที่สุดในไทย ฉะนั้นการที่จะนำท่าอากาศยานเหล่านี้เข้ามาบริหารจะเป็นการเปิดประตูน่านฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังมีการสะท้อนดีมานด์ของผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง ทำให้จำเป็นต้องเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง ทั้งนี้การที่ทอท.เข้าไปบริหารน่านฟ้าของท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานอุดรธานี จะช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือท่าอากาศยานดอนเมืองลงได้”

 


นอกจากนี้วิธีดำเนินการบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของทอท.จะดำเนินการในรูปแบบ DUO Airport ซึ่งจะเห็นได้จากการประสบความสำเร็จของท่าอากาศยานหลายแห่ง โดยเป็นการจับคู่ท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ,ท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานเชียงราย,ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานอุดรธานี และนี่คือสาเหตุที่ทอท.อยากได้ท่าอากาศยานกระบี่เพื่อจับคู่ร่วมกับท่าอากาศยานภูเก็ต
 

 

หากทอท.ได้เข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันทอท.ยังอยู่ระหว่างการเจรจาประเมินตัวเลขและรายได้ เพราะจะต้องประเมินจากตัวเลขที่ต้องชดเชยให้ทย.ด้วย ทั้งนี้ทอท.มีความสนใจที่จะบริหารท่าอากาศยานอื่นๆอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการได้รับมอบหมายจากนโยบายของกระทรวงคมนาคมในภาพรวม เพราะทอท.มีความพร้อมในการบริหารท่าอากาศยานอยู่แล้ว 
 

สำหรับการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าอากาศยาน จำนวน 3 แห่ง ให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย.นั้น  โดยให้ ทอท. เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี  บุรีรัมย์ และกระบี่ แทน ทย. พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินการฯ ด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ,ด้านสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์)  ,ด้านบุคลากร,  ด้านการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ  และด้านงบประมาณ ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแนวทางฯ  ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวต่อไป

 

 

ทั้งนี้จากการพิจารณาความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายระบบ ท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม (National Airport System) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ พบว่า ท่าอากาศยานที่มีความเหมาะสมในการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการแทน ทย.ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ 

 

 


อย่างไรก็ตามการให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทย.  ที่ปัจจุบันมีบทบาทเป็น Local airport ให้ยกระดับเป็น Regional Airport และ Secondary Hub Airport  ในอนาคต และจะเปิดโอกาสให้สายการบินมีทางเลือกด้านการตลาดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งสามารถย้ายฐานการบินโดยกระจายไปยังภูมิภาคของประเทศเพื่อลดการต่อเครื่อง/ถ่ายลำ รวมทั้งเป็นการอำนวย  ความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร ตลอดจนช่วยลดปัญหาการบริการจราจรทางอากาศและขีดความสามารถของห้วงอากาศในเขตแถลงข่าวการบินกรุงเทพ บรรเทาความแออัดของท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค และระดับสากลต่อไป