ว่างงานยังสูง 5.5 แสนคน สศช. จับตาเงินเฟ้อขย่มคนรายได้น้อยอยู่ลำบาก

26 ส.ค. 2565 | 06:06 น.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 พบ การว่างงานยังสูง 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% แม้จะปรับลดลงต่ำสุดตั้งแต่โควิด-19 ระบาด พร้อมจับตาเงินเฟ้อขย่มคนรายได้น้อยอยู่ลำบาก ค่าครองชีพสูง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2565 ว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสสองปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% 

 

สำหรับอัตราดังกล่าว ถือว่าปรับลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 36.8% และไม่เคยทำงานมาก่อน 8.2% ขณะเดียวกันการว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว (ผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี) มีจำนวน 1.5 แสนคน ลดลง 1.2% จากไตรมาสสอง ปี 2564 

 

ขณะที่การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบ อยู่ที่ 2.17% ลดลงจาก 2.77% จากปีช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2565

 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน ขยายตัว 3.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดแรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการบริโภคและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แยกเป็นสาขา ดังนี้

  • สาขานอกภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% 
  • สาขาการผลิต ขยายตัว 6.1% 
  • สาขาขายส่ง/ขายปลีก ขยายตัว 12.1%
  • สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัว 4.9% 
  • สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ 
  • สาขาก่อสร้าง หดตัว 5.4%
  • สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร หดตัว 2.6% 

สำหรับการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 

 

ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร การจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เดินทางเข้ามาในประเทศเท่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ จากข้อมูลในไตรมาสสอง ปี 2565 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 1.6 ล้านคน ในขณะที่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศสูงถึง 9 ล้านคน 

 

ส่วนภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2565

 

นายดนุชา กล่าวว่า ในประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับแรงงานจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง 

 

รวมทั้ง การขาดแคลนแรงงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นและเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แบ่งเป็น

 

1. การขาดแคลนแรงงานทักษะปานกลาง-สูง พบว่า มีความไม่สอดคล้องของทักษะแรงงานและความต้องการ สะท้อนจากความต้องการแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนตามการขยายตัวของการส่งออก

 

ขณะที่ผู้ว่างงานส่วนใหญ่กลับจบการศึกษาในด้านบริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งอาจต้องเร่งรัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ 

 

2.การขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ สะท้อนจากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปกติ หรือช่วงปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด โดยปัจจุบัน กระทรวงแรงงานได้มีการเปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) เพื่อสามารถอยู่และทำงานได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน