รู้จัก “แปลงวานิลลา” ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงจากดอยตุง

22 ส.ค. 2565 | 07:27 น.

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูง ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ล่าสุดทดลองปลูกวานิลลา แปลงใหญ่ที่สุดในประเทศ หลังพบตลาดมีความต้องการสูง และสร้างรายได้ดีให้กับคนในพื้นที่ เพราะราคาขายฝักวานิลลา เกรด A ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ อยู่ระหว่างการทดลองแปลงปลูกวานิลลา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ได้มีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น

 

สำหรับเหตุผลของการส่งเสริมการปลูกวานิลลา เนื่องจากหลายปีมานี้ เห็นว่า ความต้องการฝักวานิลลาเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการเติบโตของธุรกิจที่รองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ทั้ง ธุรกิจเครื่องสำอาง ร้านกาแฟ เบเกอรี่ หรือร้านอาหารระดับพรีเมียม ที่เน้นการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และให้กลิ่นรสพิเศษของวานิลลา ดังนั้นจึงทำการทดลองปลูกในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้า 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

 

“วานิลลา เป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงตัวใหม่ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังทดลอง เพื่อส่งเสริมเพิ่มเติมจากการปลูกกาแฟคุณภาพ และแมคคาเดเมีย โดยได้เริ่มทดลองปลูกมาระยะหนึ่งประมาณ 5,000 เสา ถือว่าเป็นแปลงใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะนี้ได้ติดต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอตรวจรับรองเป็นแปลง GAP จากนั้นจะเริ่มถอดองค์ความรู้ และขยายการปลูกไปแปลงเกษตรกรที่สนใจต่อไป”

 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ระบุว่า การปลูกวานิลลา จะให้ผลผลิตติดฝักในช่วงเดือนมีนาคม และจากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการบ่ม เพื่อให้ได้ฝักวานิลลาชั้นดี รวมเวลาตั้งแต่ออกดอกถึงเป็นฝักพร้อมจำหน่ายประมาณ  16 เดือนต่อรอบการผลิต

 

โดยฝักแห้งที่ยาวประมาณ 15 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่าเป็นเกรด A จะได้ราคาที่สูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม ผลผลิตที่ผ่านมาได้นำไปตรวจสอบที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการยืนยันว่ามีคุณภาพดีมาก 

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

สำหรับ วานิลลา จัดเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่แถบประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันแหล่งการผลิตวานิลลาหลักของโลกคือ มาดาร์กัสการ์ อินโดนีเซียและเม็กซิโก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และจะให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 5-7 โดยให้ผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้ง 

 

ลักษณะฝักวานิลลาเป็นทรงยาวรีคล้ายถั่วฝักยาว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อปลายฝักเริ่มเป็นสีเหลือง จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการบ่มแห้ง เพื่อให้กลายเป็นฝักวานิลลาแห้งพร้อมใช้งาน

 

กลิ่นวานิลลาเกิดจากการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์ภายในฝัก เมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนสารภายในคาเวียร์หรือเมล็ดวานิลลาให้กลายเป็นสารวานิลลินซึ่งเป็นสารที่ท าให้เกิดกลิ่นวานิลลา ยิ่งฝักมีสารวานิลลินมาก ก็จะท าให้เกิดกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามโทนกลิ่นวานิลลาจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ สภาพแวดล้อมและกรรมวิธีในการบ่มด้วย

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกวานิลลาคือสภาพพื้นที่แบบร้อนชื้น ดินระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเน่า มีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมออย่างน้อย 9 เดือน มีระดับความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 80% อุณหภูมิเฉลี่ย 21-32 องศาเซลเซียส และต้องการการพรางแสงราว 50%

 

สำหรับผลิตภัณฑ์จากวานิลลานั้น ฝักวานิลลาแห้งสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ค่อนข้างหลากหลาย เช่น Vanilla Powder หรือการนำฝักวานิลลาไปปั่นแห้ง Vanilla Sugar หรือการนำฝักวานิลลาไปหมักไว้ในน้ำตาลเป็นเวลา 1-4 สัปดาห์ Caviar Seed หรือการขูดเมล็ดภายในฝักวานิลลาแล้วบรรจุขาย Vanilla Extract 

 

หรือการสกัดกลิ่นวานิลลาโดยใช้สารสกัดแบบต่างๆ ทั้งเพื่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง และ Vanilla Syrup หรือน้ำเชื่อมวานิลลา

 

ปัจจุบันทางโครงการฯ มีการผลิตน้ำเชื่อมวานิลลา เพื่อนำออกขายในช่วงเทศกาลต่าง ๆ (มีจำหน่ายเป็นบางสาขา) และมีเครื่องดื่มที่ใช้ Vanilla Syrup เป็นส่วนประกอบ จำหน่ายในร้านกาแฟดอยตุง รวมถึงมีการนำฝักวานิลลามาทำเป็นไอศกรีมจำหน่ายที่ร้านครัวตำหนักและร้านกาแฟบนดอยตุง 

 

นอกจากนี้ทีมงานยังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น Vanilla Extract และ Vanilla Paste เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุด ด้วย

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

การทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

ผลิตภัณฑ์ จากการทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

 

ผลิตภัณฑ์ จากการทดลองปลูกวานิลลา หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ