เศรษฐกิจไทยฟื้น สศช. เผย GDP ไตรมาส 2/2565 โต 2.5% ปรับทั้งปี 2.7 - 3.2%

15 ส.ค. 2565 | 02:45 น.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ไทย ไตรมาสที่ 2/2565 ขยายตัว 2.5% รับเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ส่วนทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 2.7 - 3.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% 

 

ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากส่งออกบริการเพิ่มขึ้นถึง 54.3% เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชน และการอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดี ยกเว้นสาขาการก่อสร้างที่ยังติดลบ

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

 

“เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวดีขึ้น จากส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4% ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564” เลขาสภาพัฒน์ฯ ระบุ

 

ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 สศช.ได้ปรับการประมาณใหม่จากเดิม คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 – 3.5% เป็นขยายตัว 2.7 - 3.2% หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร

 

แต่ก็ต้องติดตามความเสี่ยงจากการผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนของการระบาดไวรัสโควิด-19 และฝีดาษลิง รวมทั้งความเสี่ยงจากน้ำท่วม

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสปี 2565

นายดนุชา กล่าวว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในปี 2565 คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 7.9% การอุปโภคบริโภค ขยายตัว 4.4% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 6.3 – 6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ของ GDP

 

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้ 

 

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.3% ในปี 2564 และเป็นการปรับขึ้นจาก 3.9% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ และยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังตามฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศของภาครัฐ 
  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.2% เทียบกับการขยายตัว 3.2% ในปี 2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานอัตราการเบิกจ่าย งบประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ 98% ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

 

การลงทุน

  • การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับ 3.4% ในปี 2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัว 3.5% ในประมาณการครั้งก่อน 
  • การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.1% เทียบกับ 3.3% ในปี 2564 และปรับลดจาก 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา 
  • การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.0% เทียบกับ 3.8% ในปี 2564 และปรับลดลงจาก 3.4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

 

การส่งออก

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 7.9% เทียบกับ 19.2% ในปี 2564 และปรับเพิ่มจาก 7.3% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกจากเดิม 3.3 – 4.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 4.0 – 5.0% ในการประมาณการครั้งนี้ 

 

ขณะที่ปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัว 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.4% ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

 

เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 9.0% เทียบกับการขยายตัว 8.3% ในการประมาณการครั้งก่อน และ 10.4% ในปี 2564

 

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565