“ดิจิทัล-โควิดดิสรัปชั่น" โลกแห่ใช้แรงงานระยะสั้น “เท็ตทราฯ”ชิงธงผู้นำ

06 ส.ค. 2565 | 02:20 น.

ทิศทางการจ้างงานในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นสูง จากการปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับโครงสร้างองค์กร หลังดิสรัปชั่นต่าง ๆ ทั้งดิจิทัลดิสรัปชั่นรวมถึงโควิดดิสรัปชั่น ส่งผลให้ตลาดแรงงานระยะสั้นเปิดกว้างมากขึ้น เป็นที่ต้องการมากขึ้น และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

 

“ดิจิทัล-โควิดดิสรัปชั่น" โลกแห่ใช้แรงงานระยะสั้น “เท็ตทราฯ”ชิงธงผู้นำ

 

หลากหลายองค์กรทั้งผู้ประกอบการอิสระ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนให้ความสำคัญและวางแผนการใช้แรงงานระยะสั้นสนับสนุนความยืดหยุ่นในการทำงานกันอย่างกว้างขวาง

 

 “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง THEZCAPE บริษัท เท็ตทรา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถึงบทบาทของ บริษัทฯ ที่ต้องการขานรับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ โดยมองว่า เทรนด์ของผู้คนที่ผันตัวเองเข้าสู่โลกของการทำงานระยะสั้นมากขึ้นด้วยทัศนคติของคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

 

สุธิดา  กาญจนกันติกุล

 

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และความนิยมในการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การทำงานอิสระในรูปแบบระยะสั้นประเภทต่าง ๆ เปิดกว้างสำหรับคนในหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนทำงานประจำ และคนทำงานอิสระ ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ เพศ และการศึกษา คนทำงานมีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้นจากการมีงานทำในหลากหลายอาชีพ  ทำงานที่ไหน เวลาใดก็ได้ สร้างเสริมชีวิตที่ออกแบบความสำเร็จได้ สร้างความสมดุลในชีวิตได้ตามไลฟ์สไตล์สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคม

 

ลุยแพลตฟอร์มเชื่อมนายจ้าง-ลูกจ้าง

 บริษัท เท็ตทรา คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล็งเห็นความสำคัญของการจ้างงานที่เปลี่ยนไป จึงสร้างสรรค์แพลตฟอร์มดิจิทัล THEZCAPE ให้ตอบโจทย์นวัตกรรมแรงงานรองรับการเติบโตของแรงงานระยะสั้น หรือที่เรียกว่า Gig Worker มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ Gig Economy ที่ประกอบไปด้วยการทำงานระยะสั้นประเภทต่าง ๆ สู่การเป็นแพลตฟอร์มแห่งนวัตกรรมแรงงานและศูนย์กลางตลาดแรงงานระยะสั้นเชื่อมโยงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยวางเป้าหมายส่งเสริมการมีงานทำของแรงงานและสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากระบวนการมีงานทำและการทำงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ในสถานการณ์ต่างๆ ท่ามกลางโลกของการเปลี่ยนแปลง

 

“ดิจิทัล-โควิดดิสรัปชั่น" โลกแห่ใช้แรงงานระยะสั้น “เท็ตทราฯ”ชิงธงผู้นำ

 

นางสาวสุธิดา กล่าวอีกว่า THEZCAPE แพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับงานระยะสั้น ประกอบด้วยงานฟรีแลนซ์, งาน Part Time, งานชั่วคราว, งานสัญญาจ้าง, งานโปรเจ็กต์ และงาน Outsource โดยมุ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ กลุ่มการค้าและการพาณิชย์, กลุ่มบริการลูกค้า, กลุ่มไอทีและเทคโนโลยี และกลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ ครอบคลุมหลากหลายกว่า 20 สายงาน 

 

“ด้วยนวัตกรรมด้านแรงงานทางด้านเทคโนโลยีทำให้เรามีหลากหลายแพลตฟอร์มรองรับทุกการเข้าถึงที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ด้วยเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโซเชียล มีเดียต่างๆ พร้อมกระบวนการบริหารจัดการด้านกำลังคนแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบด้วยคุณภาพ ความรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การหางานและหาคนงานที่ต้องการความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง”

 

เล็งเป้าศูนย์กลางตลาดงานระยะสั้น

เท็ตทราฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในปีแรกสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดงานระยะสั้นในระดับประเทศ และตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางตลาดงานระยะสั้นของอาเซียนในอีก 3 ปี และพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดระยะสั้นเชิงอัจฉริยะในนานาประเทศทั่วโลกต่อไป

 

ทั้งนี้ THEZCAPE แพลตฟอร์มอัจฉริยะสำหรับงานระยะสั้น มุ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ อาทิ กลุ่มการค้าและการพาณิชย์, กลุ่มบริการลูกค้า, กลุ่มไอทีและเทคโนโลยี และกลุ่มการขนส่งและโลจิสติกส์ ครอบคลุมหลากหลายกว่า 20 สายงาน วางแผนรองรับผู้ประกอบการการทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และบุคคลทั่วไป มาก กว่า 1,000 ราย ในแต่ละเดือน รองรับการทำงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริการประมาณ 300,000 -600,000 งานในระบบ

 

จุดเด่นธุรกิจเข้าถึงง่าย

สำหรับจุดเด่นของธุรกิจ เริ่มจากที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มรองรับทุกการเข้าถึงที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ด้วยเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ พร้อมกระบวนการบริหารจัดการด้านกำลังคนแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบด้วยคุณภาพ ความรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การหางานและหาคนงานที่ต้องการความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของนวัตกรรมแรงงานเพื่อให้คนไทยเข้าถึงตลาดงานและทำงานได้ตามต้องการในรูปแบบที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์นายจ้าง-คนทำงานยุค 4.0

 

ปฏิรูปทักษะการทำงาน

นางสาวสุธิดา กล่าวอีกว่า เมื่อโจทย์สำคัญของยุคนี้ นายจ้างหาคนทำงานจากทักษะเป็นหลัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้งานเปลี่ยน มีอาชีพเกิดขึ้นใหม่มากมาย ลักษณะและประเภทของการทำงานมีความแตกต่างไปจากเดิม ทำให้เกิดการปฏิรูปทักษะในปัจจุบัน การปรับตัวทางด้านทักษะถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงานท่ามกลางการแข่งขันทางด้านทักษะที่ทวีความรุนแรงเพราะทักษะจะเป็นส่วนสำคัญต่อการมีงานทำ และหากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเป็นส่วนสำคัญต่อการมีงานทำและมีรายได้ที่ดีแปรผันความรู้ความชำนาญ และถ้ามีมีทักษะหลายด้าน จะทำให้มีโอกาสมีงานหลายงานและมีรายได้ที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ทักษะที่สำคัญที่แรงงานยุค 4.0+ ควรมีไว้เป็นอาวุธประจำตนไว้ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและกำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้แก่ ทักษะหลัก (Hard Skill) อันเป็นทักษะที่ใช้ในการทำงาน ได้แก่ ทักษะดิจิทัล เพื่อใช้ในการทำงานและเชื่อมโยงการสื่อสาร, ทักษะในการทำงานเพื่อสร้างประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ, ทักษะภาษา หากได้ทั้งภาษาที่ 2 และภาษาที่ 3 จะทำให้เข้าใจและเข้าถึงผู้คนได้อย่างง่ายและเป็นจำนวนมากขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ และทักษะทางธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมาย

 

ด้านทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Soft Skill) ได้แก่ ทักษะความเข้าใจทั้งตนเอง สังคมและการเปลี่ยนแปลง, ทักษะความคิดวิเคราะห์ สู่การสังเคราะห์และตัดสินใจอย่างมีหลักการ, ทักษะการปรับตัว ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด หากปรับตัวได้เร็ว ก็จะได้เปรียบท่ามกลางการแข่งขันสูงนี้, ทักษะการบริหารจัดการทั้งการบริหารจัดการชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว, ทักษะมนุษย์สัมพันธ์เพื่อให้การทำงานร่วมกันเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีความสุข, ทักษะการสื่อสาร ควรเป็นระดับที่สื่อสารเจรจาทางธุรกิจได้ และ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องมีทั้งวางแผน ทำงาน บริหาร แก้ไขปัญหา ทำงานเป็นทีม ติดตามผลของงานจนประสบความสำเร็จ

 

ส่วนการพัฒนาเพื่อสร้างเสริมทักษะการทำงานสำหรับแรงงานยุคใหม่นี้ ต้องมีการพัฒนาทักษะด้วยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะความสำเร็จในปัจจุบันเป็นแบบปัจเจกบุคคล ทุกคนสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนเองเพื่อเชื่อมโยงกับเป้าหมายได้ตามต้องการ เนื่องจาก การเรียนรู้ที่มีหลากหลายช่องทาง หลากหลายองค์ความรู้ทั้งตามสายงานตรงและข้ามสายงาน หากแรงงานต้องการมีงานทำ มีรายได้ และสร้างความมั่นคงในระยะยาว ก็ต้องหมั่นทั้งการ Upskill และ Reskill อย่างต่อเนื่องและเรียนรู้แบบตลอดชีวิต เพื่อให้ทำงานได้ตอบโจทย์กับตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป และยังคงรักษาตำแหน่งงาน รวมถึง การทำงานสำหรับตลาดงานในอนาคตได้ต่อไป

 

ช่วยแรงงานขาดพื้นที่อีอีซี

สำหรับข่าวที่ออกมาระบุถึงแรงงานขาดแคลนในพื้นที่อีอีซีก่อนหน้านี้นั้น ในแง่บริษัทฯมีความพร้อมในการพัฒนาและสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มเพื่อรองรับคนทำงานทั้งในระบบและนอกระบบในพื้นที่ EEC และใกล้เคียง คาดการณ์นำแรงงานเข้าสู่ตลาดงานได้มากกว่า 80% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการควบรวมทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ไม่ว่าจะทำงานประจำ งานอิสระ ผู้ประกอบการ และงานระยะสั้นต่าง ๆ ก็สามารถทำงานได้ และทำได้หลายงานในเวลาเดียวกัน

 

ขณะเดียวกัน เท็ตทรา คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมมือกับ สำนักงานกรมการอาชีวศึกษา ในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของแรงงาน และสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากระบวนการมีงานทำและการทำงานระหว่างนายจ้างลูกจ้างสู่นวัตกรรมแรงงาน 4.0 หวังนำนักเรียนนักศึกษาทั้งรูปแบบทวิภาคี นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันและผู้จบการศึกษาในพื้นที่เข้าสู่ตลาดงาน EEC รองรับตำแหน่งงานกว่า 300,000 งาน สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต S-Curve ทั้งงานด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พานิชย นาวีและเกษตรกรรม

 

 “นี่จะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ อุตสาหกรรม สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วได้ต่อไป”