กฟผ.ระดมพันธมิตร สร้าง EV Ecosystem ปูทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

05 ส.ค. 2565 | 08:19 น.

นอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งเป้าหมายลดปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการผลิตไฟฟ้าและดูดซับคาร์บอนฯจากการปลูกป่าแล้ว ยังมุ่งสนับสนุนสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) และมีภารกิจที่จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ของภูมิภาค

 

กฟผ.ระดมพันธมิตร สร้าง EV Ecosystem ปูทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

รวมถึงส่งเสริมการใช้และการผลิตอีวี ตามนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ที่เป้าหมายจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มีจำนวน 30% ของการผลิตทั้งหมดในปี 2573 สอดรับการให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050

 

การขับเคลื่อนดังกล่าว การดำเนินงานของ กฟผ.ในรอบกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ถือได้ว่า มีความคืบหน้ามากในการรุกสู่การสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า(EV Ecosystem) โดยจับมือกับภาครัฐและเอกชนศึกษาและวิจัย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายพัฒนาด้านนวัตกรรมต่าง ๆ

 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ความสะดวกกับผู้สนใจลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ EV ทั่วประเทศ ด้วยระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Network Operator Platform) ภายใต้แบรนด์ “BackEN” เพื่อเป็นผู้ช่วยสำคัญบริหารจัดการสถานีชาร์จให้กับเจ้าของสถานีชาร์จ EV ซึ่งจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้ EV สามารถค้นหาสถานีชาร์จได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วย นอกจากนี้แอปพลิเคชัน EleXA ยังพร้อมให้ความช่วยเหลือเจ้าของสถานีชาร์จ ด้วยการให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการอย่างทันที ตลอด 24 ชั่วโมง

 

พร้อมทั้ง เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT เพิ่มเป็น 52 สถานีกระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย และติดตั้งเครื่องชาร์จแบบ Dynamic Load ที่มีกำลังไฟสูงสุดถึง 125 kW สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทางให้กับผู้ใช้ EV ตามเส้นทางต่าง ๆ กฟผ. ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2565 จะติดตั้ง Super Fast Charger ให้ผู้ใช้ EV เดินทางไปได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย ครอบคลุมกว่า 120 สถานี

 

บุญญนิตย์  วงศ์รักมิตร

 

รวมทั้ จับมือกับ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การดำเนินการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า การแบ่งปันทักษะและความรู้ความชำนาญในการติดตั้ง รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการบริการ ซึ่งในปี 2565 เกรท วอลล์ มอเตอร์มีแผนที่จะสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 55 แห่ง

 

นอกจากนี้ ได้จับมือกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เพื่อสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและธุรกิจสำหรับอนาคตได้ โดยดิจิทัลจะกลายเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการบริหารจัดการระบบพลังงานทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ Triple S ของ กฟผ.

 

กฟผ.ระดมพันธมิตร สร้าง EV Ecosystem ปูทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

รวมถึงร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งของบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพลังงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลบูรณาการ การทำงานของระบบไฟฟ้าร่วมกับยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility) ตลอดจนพัฒนาต่อยอดธุรกิจและบริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี

 

อีกทั้ง กฟผ. ร่วมกับ กฟน. กฟภ. ขสมก. และ สวทช. ร่วมพัฒนาดันแปลงรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศในการผลิตถึง 60%  ช่วยลดต้นทุนการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่า 30% หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทั้งนี้รถโดยสารไฟฟ้าดังกล่าว กฟผ. จะนำไปทดลองใช้งานจริง เพื่อร่วมออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาวก่อนจะขยายไปสู่การให้บริการประชาชนในอนาคต

 

ขณะเดียวกันกฟผ. เปิดให้บริการ “Supernova” เครื่องอัดประจุไฟฟ้าสุดอัจฉริยะแบบชาร์จเร็วภายใต้แบรนด์ Wallbox เครื่องแรกในเอเชีย เพิ่มศักยภาพการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในที่สาธารณะ ที่มีจุดเด่นสามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 60 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที วิ่งได้ 100 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการจ่ายไฟสูงถึง 98% และสามารถรองรับหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อในท้องตลาด

 

รวมทั้งร่วมมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลักดัน EV Ecosystem แบบครบวงจรในประเทศไทย เปิดตัวศูนย์ทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงตามมาตรฐาน IEC 61851 อัพเกรดแล็บทดสอบอุปกรณ์อัดประจุรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กำลังสูง 150 kW ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC เพื่อรองรับผู้ประกอบการหัวชาร์จไฟฟ้าในไทย ลดการ นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเปิดให้บริการทดสอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ลดต้นทุนในการผลิต ลดระยะเวลาในการพัฒนา ส่งผลให้ราคาของหัวชาร์จไฟฟ้าไม่สูงมาก สามารถแข่งขันในตลาดได้

 

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้ลงนามกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และเครือข่าย 12 พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายสถานีอัดประจุ ไฟฟ้า ให้สามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าได้ในทุกเครือข่ายฯ และมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะมีการนำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลสถานีอัดประจุไฟฟ้า กลุ่มแรกในเดือนสิงหาคม 2565 นี้