ไทย-เทศ 21 ราย แห่ชิงสิทธิ สำรวจก๊าซ-น้ำมันดิบอ่าวไทย

05 ส.ค. 2565 | 07:20 น.

เอกชนไทย-เทศ 21 ราย เล็งชิงยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ระหว่าง 5-16 ก.ย.นี้ จากที่เคยสำรวจเจอทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบแต่ผลิตไม่ได้ต้องคืนพื้นที่ เหตุเริ่มผลิตไม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯได้ประกาศเชิญชวนเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดจากการจัดประชุม The 24th Thailand Bidding Round Conference ขึ้น

 

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงให้ข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ เช่น หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอนการยื่นขอสิทธิฯ รวมทั้งศักยภาพ และการเข้าถึงข้อมูลของแปลงที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ เป็นต้น ได้มีเอกชนผู้สนใจทั้งจากไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา  ต่างสนใจเข้าร่วมรับฟัง 21 ราย เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเอกชนสนใจที่จะยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้จำนวนมาก

 

ไทย-เทศ 21 ราย แห่ชิงสิทธิ สำรวจก๊าซ-น้ำมันดิบอ่าวไทย

 

ทั้งนี้ กรมฯได้เปิดบริการจำหน่ายข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมในการกำหนดโครงการสำรวจปิโตร เลียม และจัดทำรายงานการศึกษาทางธรณีวิทยาสำหรับแปลงสำรวจที่จะยื่นขอ จากนั้นจะเปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยื่นซองคำขอและข้อเสนอระหว่างวันที่ 5-16 กันยายน 2565 ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาคำขอสิทธิฯ จะผ่านการพิจารณา กลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามลำดับ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

 

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับศักยภาพปิโตรเลียมแปลง G1/65 แปลง G2/65 และแปลง G3/65 ได้อาศัยข้อมูลหลุมเจาะและข้อมูลการวัดคลื่นไหวสะเทือน ในเบื้องต้นคาดว่าแต่ละแปลงจะมีปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันดิบอยู่ โดยแปลง G1/65 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแอ่งปัตตานี พื้นที่บางส่วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/32 ซึ่งบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยดำเนินการเจาะหลุมพบก๊าซธรรมชาติทั้ง 3 หลุม แต่ภายหลังได้คืนพื้นที่ผลิตดังกล่าวทั้งหมดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2554 เนื่องจากไม่สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

 

แปลง G2/65 ครอบคลุมพื้นที่แอ่งปัตตานีตอนใต้ โดยด้านตะวันออกของแปลงสำรวจอยู่ติดกับแหล่งผลิตและพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมไพลิน พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมมรกต พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอุบล และอยู่ล้อมรอบพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมวาสนา (แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48)

 

แปลง G3/65 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแอ่งมาเลย์เหนือ และอยู่ติดกับพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมหลายแห่ง ได้แก่ พื้นที่ผลิตปิโตร เลียมบงกช  และอยู่ล้อมรอบพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมนงเยาว์ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมนงเยาว์ส่วนขยาย ทั้งนี้ พื้นที่บางส่วนของแปลง G3/65 เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงสำรวจที่สำคัญตามลำดับ ดังนี้

 

แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B12/32 ในการให้สิทธิฯ ในระบบสัมปทานรอบที่ 13 ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท สงขลารีซอสเซส จำกัด และบริษัท เพิร์ล ออย (ประเทศไทย) จำกัด ตามลำดับ โดยมีการเจาะหลุม สำรวจ 7 หลุม ผลการเจาะพบก๊าซธรรมชาติทั้ง 7 หลุม และได้รับอนุมัติให้กำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบุษบง เป็นพื้นที่ 122 ตารางกิโลเมตร แต่ภายหลังได้คืนพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B11/38 ในการให้สิทธิฯ ในระบบสัมปทานรอบที่ 15 ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท เท็กซาโก้ เอ็กซ์โพลเรชั่น (ไทยแลนด์) สอง จำกัด และบริษัท เพิร์ลออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามลำดับ โดยมีการเจาะหลุมสำรวจ 7 หลุม ผลการเจาะพบนํ้ามันดิบและก๊าซธรรมชาติ 3 หลุม และได้รับอนุมัติให้กำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมช้างแดง เป็นพื้นที่ 66 ตารางกิโลเมตร แต่ภายหลังได้คืนพื้นที่ทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B13/38 และแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G12/48 ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และได้รับอนุมัติให้กำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมพิกุล เป็นพื้นที่ 1.92 ตารางกิโลเมตร แต่ภายหลังได้คืนพื้นที่ทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถเริ่มการผลิตปิโตรเลียมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

ทั้งนี้ ด้วยข้อมูลธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์และข้อมูลหลุมเจาะสำรวจ บ่งชี้ว่า พื้นที่สำรวจทั้ง 3 แปลงมีศักยภาพปิโตรเลียม ที่ผ่านการสำรวจพบแล้วทั้งก๊าซธรรมชาติ และนํ้ามันดิบ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ได้ หากการเปิดให้สิทธิประสบความสำเร็จและมีการดำเนินการเข้ามาสำรวจพบปิโตรเลียมเพิ่มเติมเพียงพอที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ได้ ก็จะถือเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดแหล่งผลิตปิโตรเลียมใหม่ๆ มาทดแทนแหล่งผลิตปัจจุบันที่นับวันจะมีปริมาณลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ

 

สำหรับการดำเนินงานครั้งนี้ จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท และจะต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท และยังสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปแบบของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไร ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทยด้วย