เริ่มแล้ว เปิดซองข้อเสนอแรก BEM-ITD ชิงประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

01 ส.ค. 2565 | 11:32 น.

รฟม.-คณะกรรมการคัดเลือกม.36 เปิดซองข้อเสนอแรกด้านคุณสมบัติ หลัง BEM-ITD ยื่นประมูลชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท คาดดึงเอกชนลงนามสัญญาร่วมทุนปลายปีนี้ เปิดให้บริการภายในเดือน ธ.ค. 70

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พร้อมทั้งผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้เข้าร่วมในการเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ทั้งนี้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาข้อเสนอและดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัดต่อไป

เริ่มแล้ว เปิดซองข้อเสนอแรก BEM-ITD ชิงประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”


สำหรับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย 
กลุ่มที่ 1 
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 

 

กลุ่มที่ 2  
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 
บริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้  
 

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของเอกชนในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้ง 4 ซองข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ 2.ข้อเสนอด้านเทคนิค โดยผู้ยื่นข้อเสนอเสนอต้องได้รับคะแนนแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนรวมทั้งหมด  3.ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 4.ข้อเสนออื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อรฟม.

เริ่มแล้ว เปิดซองข้อเสนอแรก BEM-ITD ชิงประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผน รฟม.ได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการฯโดยคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนภายในเดือน มี.ค.-ส.ค. 65 หลังจากนั้นคาดว่าจะร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนในช่วงปลายปี 65 และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกภายในเดือน ส.ค. 68 และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตกภายในเดือน ธ.ค. 70

 

เริ่มแล้ว เปิดซองข้อเสนอแรก BEM-ITD ชิงประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)