ส่อลากยาว "บีทีเอส" ร้องศาลคุ้มครองประมูลสายสีส้ม รอบ 2

31 ก.ค. 2565 | 04:29 น.

"บีทีเอส" ยื่นศาลคุ้มครอง ประมูลสายสีส้ม รอบ 2 ล้มทีโออาร์รอบใหม่ เหตุกีดกันการแข่งขัน ส่อเอื้อเอกชนบางราย ลุ้นศาลพิจารณาคดีต่อ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTSC) เปิดเผยว่า หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น บริษัทฯ ได้ศึกษารายละเอียด TOR และ RFP ฉบับใหม่พบว่ากำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขแตกจากเดิม และเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กีดกันการแข่งขัน ซึ่งส่งผลให้เอกชนที่เคยมีคุณสมบัติและเข้าประมูลได้ที่ผ่านมากลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้

 

 

“เป็นการกระทำที่อาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้เข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดจนอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ตลอดจนขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง”

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบีทีเอสได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอให้พิจารณาเงื่อนไขการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ เนื่องจากข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอมีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจนที่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

 

 

 

 “เราไม่เข้าร่วมประมูลรอบนี้ เพราะเห็นแล้วว่าตั้งกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในเรื่องของข้อกำหนดคุณสมบัติ เป็นกติกาที่เลือกผู้รับเหมา ซึ่งปัจจุบันเราได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว ดังนั้นขอรอดูทางศาลปกครองกลางพิจารณาก่อน”

 

 

 

นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอทุเลาการบังคับต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาและยกเลิก TOR และ RFP ของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามไม่ให้นำ TOR และ RFP ใหม่มาใช้ในการประมูลโครงการนี้ และกลับไปใช้ TOR และ RFP ของการประมูลโครงการครั้งเดิมเมื่อเดือน ก.ค.2563 โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็ได้ยื่นหนังสือสงวนสิทธิดำเนินการทางกฎหมายและขอคัดค้านการประมูลโครงการโดยใช้ TOR และ RFP ใหม่ต่อคณะกรรมการ รฟม. ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 บริษัทฯ ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่ รฟม.ได้ออก TOR และ RFP ในการประมูลใหม่ ซึ่งบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติ ครม.และคำพิพากษาศาลปกครอง อันอาจถือได้ว่ามีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการประมูลโครงการครั้งนี้ตามที่ได้ชี้แจงไปข้างต้น รวมทั้งการกระทำดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ต้องเสียหายและบริษัทฯ จึงต้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะพิจารณาข้อเสนอและดำเนินการตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป โดย เบื้องต้นกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2565