ฟันธงบาทอ่อนแตะ 37 รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ศก.มะกันถดถอย ส่งออกไทยเสี่ยง

23 ก.ค. 2565 | 06:56 น.

เงินเฟ้อพุ่ง จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ม.หอการค้าไทย ฟันธงกดบาทอ่อนค่าแตะ 37 บาท ขณะเศรษฐกิจมะกัน-ยุโรปส่อถดถอยทุบส่งออกไทยชะลอตัว ชี้เป็นโอกาสผู้ประกอบการหันค้าสกุลอื่นที่ค่าเงินไม่ผันผวนเช่นสกลุหยวน

 

เงินเฟ้อสหรัฐฯพุ่ง 9.1%  ในเดือนมิถุนายนล่าสุด สูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะประชุมปลายเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มีเป้าหมายดอกเบี้ยที่ 3.8% (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5-1.75%) ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม จะส่งผลอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯยิ่งห่างกันมากขึ้น (ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 0.50%) เงินทุนจะไหลออก ทำเงินบาทอ่อนค่าลงอีก (ค่าเงินบาทไทยใกล้แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ามากสุดรอบเกือบ 16 ปี)

 

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยไตรมาส 1 /2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯติดลบ 1.6% และมีโอกาสไตรมาส 2 จะติดลบเช่นกัน ผลจากเงินเฟ้อที่สูง กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง จะยิ่งทำให้โอกาสเศษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยมีสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ  ขณะ S&P Global Ratings คาดการณ์ปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะลดลงเหลือ 2.4% (จากปี 2564 ขยายตัว 5.7%)

 

ฟันธงบาทอ่อนแตะ 37 รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ศก.มะกันถดถอย ส่งออกไทยเสี่ยง

 

 

 

 

ทั้งนี้จากที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯสัดส่วนกว่า 10% ของการส่งออกในภาพรวม (ปี 2564 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯสัดส่วน 15%)  การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ(สัดส่วน 27% ของจีดีพีโลก) รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปที่คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกอีก 10% ของไทย จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งทางศูนย์ฯ คาดการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5-6% เงินเฟ้อ 6-7% และจีดีพีอยู่ที่ 2.5-3%

 

ฟันธงบาทอ่อนแตะ 37 รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ศก.มะกันถดถอย ส่งออกไทยเสี่ยง

 

“ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงถึง 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นกับนโยบายดอกเบี้ยไทยว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ปรับขึ้นมีโอกาสอ่อนค่ามากกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ เพราะคาดเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50-0.75% ในเดือนนี้”

 

 

อย่างไรก็ดีจากเงินบาทอ่อนค่าครั้งนี้ กลุ่มสินค้าส่งออกที่จะได้รับอานิสงส์คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% เช่น ยางพารา ข้าว ผลไม้ เกษตรแปรรูป ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับอานิสงส์ คือ กลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และอาหารแช่แข็ง เพราะสู้ค่าจ้างที่ต่ำของประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ นอกจากนี้การวิเคราะห์ว่ากลุ่มสินค้าใดได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ต้องเปรียบเทียบค่าเงินกับประเทศคู่แข่งด้วยว่าใครอ่อนกว่ากัน

 

ฟันธงบาทอ่อนแตะ 37 รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ศก.มะกันถดถอย ส่งออกไทยเสี่ยง

 

“เงินบาทที่อ่อนค่า ณ เวลานี้มองว่าอ่อนเกินไป จึงน่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาพยุงค่าเงินให้อยู่ในระดับ 32-34 บาทต่อดอลลาร์ เปลี่ยนคู่ค้าที่ไม่ใช้เงินดอลลาร์ที่ค่าเงินเขาไม่ผันผวนและไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป เช่นสกุลหยวน ซึ่งในสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นโอกาสของหลายสินค้าที่สามารถค้ากันโดยไม่ใช้เงินดอลลาร์ รวมถึงในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และค่าเงินผันผวนผู้ส่งออกของไทยควรวางแผนทำการค้ากับประเทศที่เริ่มไม่ผูกค่าเงินเป็นดอลลาร์ และสมัครสมาชิกระบบการชำระเงินที่มากกว่าระบบ SWIFT” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว