ผวาหนี้เสีย SMEs จ่อทะลุล้านราย จี้รัฐคลอดแพคเกจอุ้ม

23 ก.ค. 2565 | 22:55 น.

SMEs ผวาพิษเศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตฉุดตัวเลข NPL ครึ่งปีหลัง พุ่งทะลุหลักล้านราย สูงเป็นประวัติการณ์ ชี้ตัวเลข 2 แสนรายต่ำกว่าความเป็นจริงที่สูงกว่า 3-4 เท่าตัว วอนรัฐหามาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่สภาอุตฯ ห่วงเอสเอ็มอีสายป่านสั้น แนะเร่งคลอดแพคเกจช่วย

การเผชิญวิกฤตรอบด้านทั้งการระบาดของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ต้นทุนสินค้าหลายชนิดเพิ่มสูงขึ้น อัตราค่าเงินที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่พบว่ามีสินเชื่อในระบบรวมมากกว่า 3.93 ล้านล้านบาท

 

โดยมีสัดส่วนหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ราว 11.5% ขณะที่กลุ่ม mSMEs กลายเป็น NPL แล้ว 7.9% หรือกว่า 2.86 แสนราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับ 5 เรื่องหนักๆ ได้แก่ 1. ต้นทุนเพิ่มทั้งค่าปุ๋ย พลังงาน เชื้อเพลิง ฯลฯ 2. การบริโภคในประเทศที่ลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น 3. ภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เตรียมปรับขึ้น 4. หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และ 5. ปัญหาการว่างงาน ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมทำให้หลายรายต้องปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวร

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

หวั่นหนี้เสียทะลุหลักล้าน

อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลัง หากภาครัฐยังไม่ขยับตัวดำเนินมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชื่อว่าจะเห็น SMEs บางรายที่ไม่สามารถปรับราคาได้ จะต้องปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวรเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้กลุ่ม NPL ขยับเพิ่มขึ้นเป็นล้านคน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และจะลุกลามกลายเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ส่งผลกระทบหนักต่อประเทศ จากวันนี้ที่พบว่ามีกลุ่ม SMEs ที่เป็น NPL แล้วราว 8-9% แต่ในความเป็นจริงอาจมากกว่า 3-4 เท่าตัว

 

“สิ่งสำคัญ คือ วันนี้ภาครัฐต้องรีบคิดเรื่องของการแก้ปัญหา การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่จะไปส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงช่องทางใหม่ๆในการหาโอกาสให้ SMEs ขขยายธุรกิจ ลดการนำเข้า และสร้างขีดความสามารถในการส่งออก เพราะแค่ลดการนำเข้า 1-2 หมื่นล้านบาท จะสามารถสร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้มากมาย”

ผวาหนี้เสีย SMEs จ่อทะลุล้านราย จี้รัฐคลอดแพคเกจอุ้ม               

วันนี้อยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมตัวกัน พึ่งพากัน อย่าเดินคนเดียว ช่วยกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ที่ผ่านมาตัวเลขสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งการแก้หนี้ เติมทุน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อให้ผู้ประกอบการมีอาวุธไปต่อสู้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ

 

ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในเรื่องของการส่งออก, การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่ขอสิทธิให้ SMEs GP ในสัดส่วน 30% กลับคืนมาและเพิ่มเป็น 50%, การสนับสนุนเงินลงทุนทั้งจาก BOI และกองทุนฟื้นฟูอื่นๆ และการบริโภคในประเทศ

 

สภาอุตฯห่วง SMEs เอ็นพีแอลพุ่ง

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศ มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาผลิต เวลานี้ประสบกับต้นทุนทั้งวัตถุดิบ ค่าโลจิสติกส์ ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น

 

จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งในรายที่นำเข้าวัตถุดิบในรูปดอลลาร์ และส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯไม่กระทบมากจากเงินบาทอ่อนค่า แต่ในรายที่นำวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาผลิตและเน้นขายในประเทศ ที่มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และเงินบาทอ่อนค่า จะกระทบมาก จากไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้มาก ขณะตลาดในประเทศ ปัจจุบันเงินเฟ้อในประเทศสูง ค่าครองชีพสูง กำลังซื้อลดลง

 

“ปัญหาที่เอสเอ็มอีกังวลในเวลานี้คือ ต้นทุนการผลิตสูง ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นจากบาทอ่อนค่า การขาดสภาพคล่อง ขายของได้ยากขึ้น ซ้ำเติมจากเติมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ล่าสุดค่าไฟฟ้ารอบใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) มีแนวโน้มปรับขึ้นจาก 4 บาท เป็น 5 บาทต่อหน่วยตามต้นทุนผันแปรด้านพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าโลจิสติกส์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากสงครามยังยืดเยื้อ ห่วงเอสเอ็มอีสายป่านไม่ยาวจะมีปัญหาสภาพคล่อง และเอ็นพีแอลจะพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นทุกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต้องเร่งหาแพ็กเกจช่วย”

 

โรงแรม SMEs ยังไม่รอด

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจห้องพักและโรงแรมขนาดเล็กพบว่าปัจจุบันในจ.ภูเก็ต ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ล่าสุดหลายแห่งถูกสถาบันการเงินยึดทรัพย์ และประกาศขายทอดตลาด และยังมีโรงแรมขนาดเล็กอีกกว่า 200 แห่ง อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่าปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ถือว่ารอดแล้ว  แต่ยังคงเหลือแต่กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่รอด ผมจึงจะลงพื้นที่ภูเก็ตในช่วงต้นเดือนหน้า เพื่อหารือและรับฟังปัญหากับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ในการหาทางช่วยเหลือ โดยจะทำให้เป็นภูเก็ตโมเดล ถ้าดำเนินการได้สำเร็จก็สามารถช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่นได้

 

ทั้งนี้หากเราผลักดันให้แบงก์รัฐหรือเอสเอ็มอีแบงก์ เข้าไปช่วยเหลือในการจัดสรรเงินลงทุนให้เขากลับมาเปิดธุรกิจได้อีกครั้ง ก็จะทำให้เขาสามารถหารายได้ มาจากหนี้สินต่างๆที่มีอยู่ เพื่อให้กลับมามีกำลังในการทยอยชำระหนี้ได้ โดยไม่ถูกบังคดี  เพราะจริงๆแบงก์ก็คงไม่ได้อยากยึด และจริงๆผู้ประกอบการเล็กก็ไม่ได้ต้องการเงินมากถึง 5 ล้านบาทด้วยซ้ำแค่ราว 1 ล้านบาทก็น่าจะทำให้ดำเนินธุรกิจได้

          

“จริงๆธุรกิจโรงแรมเอสเอ็มอีในภูเก็ต ก่อนโควิด-19 ก็ลำบากอยู่แล้ว เพราะตอนนั้นภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน แต่มีการสร้างโรงแรมเพิ่ม18% ก็ประสบผลกระทบจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย พอเจอโควิดไปร่วม 2 ปีก็วิกฤตหนักมาก และที่ผ่านมาด้วยความที่โรงแรมระดับเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาติถูกต้องตามกฏหมายคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% มีแค่ 20% ที่จดทะเบียนถูกต้อง

 

ที่ผ่านมาเราก็พยายามช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวกัน โดยอนุโลมให้แก่มีใบเสร็จรับรอง หรือแสดงหลักฐานการเสียภาษีถูกต้อง ก็ให้เข้าร่วมโครงการได้ แต่ก็แทบไม่มีใครสมัครเข้ามา เราก็ต้องเข้าไปหารือว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

จี้รัฐคลอดนโยบายหนุน SMEs

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่จะทำให้SMEs ผ่านไปได้ดีที่สุดถ้าไม่นับตัวเองก็คือ “รัฐบาล” กับองคาพยพที่เป็นภาครัฐหรือภาคธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะระบบเศรษฐกิจบ้านเราถูกคุมด้วยราชการมานาน เมื่อระบบไม่เปลี่ยน คนที่ลงมาคุมธุรกิจจึงรู้เรื่องไม่เท่าคนทำธุรกิจ เพราะคนเก่งหันไปทำงานเอกชนไม่ทำงานรัฐบาล

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค               

เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ภาครัฐต้องปรับปรุงตัว ไม่ใช่ภาคเอกชนต้องปรับปรุงตัวเพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนจะต้องปรับตัวตลอดเวลาเพื่ออยู่รอด ภาครัฐต้องรู้บทบาทหน้าที่ว่าตนเองเป็น backup จะต้องช่วยผลักดัน SMEs ไปข้างหน้าโดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ เพื่อให้ SMEs ภาคเอกชนทั่วไปเดินทะลุผ่านสถานการณ์วันนี้ไปให้ได้และกลับมายืนใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น บ้านเมืองดีขึ้น ตรงนี้เป็นนโยบายสำคัญที่สุดของรัฐบาลและพรรค การเมืองต่อไป

              

เดิม SMEs หรือบริษัทกลางขนาดย่อมของประเทศไทยไม่ได้ต่างไปจากบริษัทใหญ่ๆในเมืองไทยหรือต่างประเทศ เพราะมหาเศรษฐีหรือบริษัทใหญ่ๆหลายบริษัทก็มาจาก SMEs ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ เพียงแต่ช่องทางและโอกาสไม่เหมือนกัน ถ้าภาครัฐส่งเสริมช่องทางการขายและโอกาสให้มากขึ้นประเทศไทยก็จะสามารถมีมหาเศรษฐีหรือบริษัทใหญ่ๆได้มากขึ้นแน่นอน เพราะปัญหาวันนี้คือ SMEs ไทยไม่มีโอกาสและไม่มีเงินสนับสนุน และไม่รู้วิธีการทำ marketing

 

“เมืองไทยถ้าทำจริงจังมันจะไปได้ไกลกว่านี้ แต่ภาครัฐต้องดีกว่านี้ และภาครัฐจะต้องเป็น supporter ไม่ใช่เป็น regulator นโยบายภาครัฐจะต้องเป็นตัวผลักดันไม่ใช่เป็นตัวควบคุมถึงจะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีการพัฒนา SMEs หรือการพัฒนาภาคธุรกิจให้เดินหน้าได้

              

สิ่งที่จะทำให้บริษัทธรรมดาเล็กๆมีโอกาสได้คือภาครัฐนโยบาย เช่น ภาษีต้องคืนกลับมาอุดหนุนสินค้า SMEs ของไทย เงินงบประมาณประจำปีในแต่ละปีถ้าสามารถแบ่งออกมาสัก 20% ของงบเพื่ออุดหนุน SMEs ไทยมันก็จะทำให้ SMEs ไทยลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้ กฎหมายงบประมาณมันไม่ได้รับการแก้ไข กลายเป็นว่าบริษัทยิ่งใหญ่ยิ่งได้เปรียบยิ่งได้ประโยชน์ มีอำนาจต่อรอง กู้เงินทีมีดอกเบี้ยต่ำ แต่ SMEs กู้กลับได้ดอกเบี้ยสูง คนตัวเล็กต้องได้แต้มต่อมันถึงจะโตได้”

 

ดังนั้นการส่งเสริมกิจกรรมเล็กๆได้จะต้องส่งเสริมตั้งแต่เริ่มต้น มีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแล ทำอย่างไรผู้ประกอบการตัวเล็กจะจัดตั้งธุรกิจได้อย่างดี ขณะที่ภาคการเงินต้องให้เงินทุนในวิสัยที่เขาจะชำระได้ เงื่อนไขต่างๆที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับ SMEs จะต้องไม่เหมือนธุรกิจใหญ่หรือธุรกิจปกติ สุดท้ายคือต้องให้โอกาส สนับสนุนส่งเสริมให้มีเครือข่าย marketing ต่างๆเพื่อประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมให้ออกไปต่างประเทศหรือให้ขยายกิจการให้ได้ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเราจะมีบริษัทใหญ่ๆในเมืองไทยมากกว่านี้ที่มาจาก SMEs