ปรับด่วนลาวพลิกโฉม อีสานเหนือรับมือ‘ตลาดเปลี่ยน’ 

17 ก.ค. 2565 | 01:05 น.

รองประธานหอฯหนองคายชี้ หลังเปิดประเทศลาวพลิกโฉม ทางรถไฟจีน-ลาว แกนหลักโลจิสติกส์ใหม่ แม่เหล็กดึงดูดท่องเที่ยว-ขนส่งสินค้า เวียงจันทน์ขึ้นพรึบโรงแรม 4-5 ดาว ศูนย์การค้าใหญ่ คนลาวหันช็อปปิ้งในประเทศแทนข้ามโขงมาหนองคาย-อุดรฯ จี้รัฐ-เอกชนพื้นที่ปรับตัวรับมือด่วน

หนองคาย และกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับสปป.ลาว กำลังพบการเปลี่ยนแปลงการค้าการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ ดวงใจ สุขเกษมสินรองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 การค้าชายแดนระดับท้องถิ่นระหว่างหนองคายกับลาวคึกคักมาก มีลูกค้าคนลาวทั้งนั่งเรือข้ามนํ้าโขง หรือขับรถยนต์ผ่านแม่นํ้าโขงเข้ามาหาซื้อสินค้าทั่วๆ ไป ทั้งสินค้าบริโภคอุปโภค อาหารสด สินค้าพืชผลการเกษตร จากตลาดหนองคายกลับไปใช้ฝั่งโน้น

 

บางส่วนเดินทางเลยไปถึงอุดรธานี เพื่อหาซื้อสินค้าจำเป็นบางชนิดในศูนย์การค้า หรือเพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยว หรือเดินทางต่อด้วยเครื่องบิน ไปทำกิจธุระที่กรุงเทพฯหรือไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นคนลาวที่มีฐานะ หรือชาวต่างประเทศที่อาศัยในประเทศลาวเป็นส่วนใหญ่

ดวงใจ สุขเกษมสินรองประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย

ปรับด่วนลาวพลิกโฉม อีสานเหนือรับมือ‘ตลาดเปลี่ยน’ 

แต่จากการระบาดเชื้อโควิด-19 ยืดเยื้อกว่า 2 ปี มีการปิดล็อกประเทศสกัดการระบาดโควิด-19 ให้ผ่านเพียงรถบรรทุกสินค้าผ่านเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อการค้าขายชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดตามพรมแดน ทำให้ตัวเลขการค้าชายแดนท้องถิ่นหนองคาย-ลาว ลดหายไปกว่า 60%

 

เมื่อโควิด-19 คลี่คลายกลับมาเปิดประเทศกันอีกครั้งพบว่าเศรษฐกิจธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอยของคนลาวเปลี่ยนไปมาก ที่เห็นชัดคือการค้าพรมแดนที่คนลาวเคยข้ามมาซื้อหาสินค้าคึกคัก ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกลุ่มคนลาวที่สามารถเดินทางเข้ามาถึงอุดรธานี ซึ่งจะเป็น กลุ่มคนที่มีฐานะ จะเดินทางเข้ามาเพื่อพบหมอ หรือเติมนํ้ามันที่มีราคาถูกกว่าในลาวเท่านั้น จะไม่หาซื้อสินค้าทั่วๆ ไป แต่เลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น ส่วนใหญ่จะเป็นในศูนย์การค้า

ส่วนคนลาวทั่วไปที่เคยข้ามมาซื้อหนองคายหรือตลาดพรมแดนมีน้อยลง เนื่องจากยุ่งยากในการหาแลกเงินบาทหรือดอลลาร์ ยังเจอปัญหาภาษีการนำสินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,500 บาท ออกราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีอีก 10% ยิ่งทำให้คน ลาวเลิกข้ามมาซื้อของฝั่งไทย แต่หันไปหาซื้อสินค้าในตลาด หรือศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เกตร้านค้าต่างๆ ในกรุงเวียงจันทน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนักธุรกิจจีนและจำหน่ายสินค้าจีนเป็นหลัก เพราะสะดวกกว่า ไม่ต้องเดินทาง และราคาใกล้เคียงหรือบางรายการถูกกว่าของไทย

 

“ดวงใจ” เล่าต่อว่า ทุนต่างชาติยังทำให้ลาวเปลี่ยนไปเร็วมาก เวลานี้ในเวียงจันทน์มีโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นักเดินทางเมื่อมาบินมาลงที่อุดรธานี แทนที่จะพักค้างที่อุดรธานีหรือหนองคายเช่นเดิม เปลี่ยนเป็นข้ามแม่นํ้าโขงไปพักโรงแรมในเวียงจันทน์แทน เพราะราคาถูกกว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความสะดวกในการทำภารกิจ หรือเพื่อเดินทางต่อไปกับรถไฟจีน-ลาว

 

“ในอนาคตคนไทย รวมถึงคนหนองคาย-อุดรฯ อาจต้องข้ามนํ้าโขง เพื่อไปช็อปปิ้งในเวียงจันทน์แทน เหมือนคนลาวที่เคยเข้ามาจับจ่ายช็อปปิ้งฝั่งไทยก็เป็นได้” รองประธานหอการค้าหนองคาย กล่าว

 

ขณะที่การเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว กลายมาเป็นระบบโลจิสติกส์หลักของสปป.ลาว ที่ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมายและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในลาวมากขึ้น ทำให้บรรยากาศต่างๆ ในประเทศลาวเหมือนหรือเทียบเท่ากับในฝั่งไทย ต่อไปหากจีนกลับมาประกาศเปิดประเทศยิ่งจะเป็นส่งผลดีกับการท่องเที่ยวของลาวขึ้นมาอีกมาก ซึ่งเวลานี้คนไทยก็มีการเดินทางข้ามไปประเทศ สปป.ลาวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเพื่อการดูลู่ทางการลงทุนธุรกิจตามหัวเมืองที่สำคัญเช่น วังเวียง หลวงพระบาง เมืองบ่อเตน ส่วนหนึ่งเพื่อการท่องเที่ยวไปกับขบวนรถไฟจีน-ลาว เฉลี่ยวันละหลายๆ กลุ่ม

 

นอกจากนี้ลาวยังมีแผนพัฒนาระบบขนส่งทางรางและถนน ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างลาว-เวียดนาม-จีน ทำทางรถไฟและถนนต่อจากเวียงจันทน์-คำม่วน ไปสิ้นสุดที่เรือนํ้าลึกหวุง อ๋าง เมืองฮาห์ตินห์ ในเวียดนามเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นไปตามยุทธศาสตร์เปลี่ยนจากประเทศแลนด์ล็อกเป็นแลนด์ลิ้งก์ เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าสู่ทะเลอีกเส้นทาง รวมถึงสินค้าจากภาคอีสานของไทย แทนการส่งลงมาท่าเรือแหลมฉบังของไทย ที่ไกลและมีต้นทุนสูงกว่า
 

 

ดวงใจกล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าการพัฒนาด้านต่างๆ ของสปป.ลาวที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลได้อย่างแท้จริง อย่าให้เป็นเพียงนโยบายเท่านั้น

 

โดยเฉพาะการสนับสนุน SMEs สินค้าพื้นถิ่น เพื่อให้สินค้าและผู้ประกอบการรายเล็ก มีพื้นที่บ้างให้แข่งขันกับทุนขนาดใหญ่ได้ เพราะปริมาณไม่ได้มากขนาดจะส่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ได้ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตั้งแล้วต้องมีแผนดำเนินงาน มีสิ่งดึงดูดเชิญชวนที่พิเศษจริง ๆ เพื่อให้มีนักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,801 วันที่ 17-20 กรกฎาคม พ.ศ.2565