"ไทยสร้างไทย" จี้รัฐบาลชะลอเหมืองแร่โพแทชอุดรฯ

06 ก.ค. 2565 | 04:02 น.

ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย แถลงการณ์จี้รัฐชะลอโครงการเหมืองแร่โพแทชอย่างไม่มีกำหนด ชี้ต้องทำประชาพิจารณ์ให้รอบคอบ ชาวอุดรต้องได้ประโยชน์สูงสุด หนุนนำแร่โพแทชมาทำปุ๋ยเพื่อประชาชน แต่ต้องนำแหล่งแร่ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์เสียก่อน

ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย ประกอบด้วยนายภูมิ​พันธ์​ บุญ​มา​ตุ่น​ นายหรั่ง ธุระพล นายโชคเสมอ คำมุงคุณ นายสุระศักดิ์ แสงตา นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์​ และนางสาวสุขุมาพร ดอกไม้ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนโครงการ เหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เรื่องโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามกระทรวงอุตสาหกรรม

 

โดยโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนของโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท

กลุ่มว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย แถลงการณ์จี้รัฐบาลชะลอโครงการเหมืองแร่โพแทช

ซึ่งจากมติ ครม. ดังกล่าว ทำให้ โครงการเหมืองแร่โปแทชจังหวัดอุดรธานี เดินหน้าออกประทานบัตรให้เอกชนดำเนินโครงการ ซึ่งว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย มีความห่วงใย พ่อแม่พี่น้องในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จึงได้เฝ้าระวังและมีข้อท้วงติง เพื่อเสนอแนะให้รัฐบาลได้พิจารณาประเด็นต่างๆเหล่านี้ให้ครบถ้วนรอบด้านและมีความชัดเจน ต้องให้ประชาชนชาวอุดรธานีสามารถมั่นใจในกระบวนการต่างๆของรัฐ ต้องมีความโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของพี่น้องชาวจังหวัดอุดรธานีให้มากที่สุด ซึ่ง มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย เห็นด้วยกับประเด็นที่จะให้มีโครงการปุ๋ยเพื่อประชาชน โดยสนับสนุนให้เอาแร่โพแทชที่ประเทศไทยมีเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แก่ประเทศชาติ และประชาชน

 

2. ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย ต้องการให้รัฐบาลผลักดันเหมืองแร่โพแทชที่ได้รับประทานบัตรแล้ว ต้องเอาแร่โพแทชนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเสียก่อน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลให้อนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทช ไปแล้ว 2 พื้นที่ ได้แก่ ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์  จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ประมาณ 9,700 ไร่ ของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี และที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 9,000 ไร่ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีกำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี แต่ราคาปุ๋ย ในท้องตลาดยังมีราคาสูงมาก ซึ่งทำให้เราไม่เชื่อมั่นว่า เมื่อมีโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี จะทำให้ราคาปุ๋ยในท้องตลาดถูกลง

 

3. ว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย ขอให้ภาครัฐ เร่งประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิประชาชน ควรทำประชาพิจารณ์ให้รอบคอบอย่างมาก เพราะแหล่งแร่โพแทชยังมีอีกหลายที่ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ และมีปริมาณมากพอ ต่อความต้องการ เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โปแทชจังหวัดอุดรธานี มีการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี และยังไม่สามารถทำความเข้าใจหรือให้ความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ว่า รัฐมีมาตรการที่รัดกุมและมีมาตรฐานแก้ใขปัญหาผลกระทบด้านต่างๆที่ดีให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้

ร่วมออกแถลงการณ์เพื่อขอให้รัฐพิจารณาทบทวนโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี

4. ในเรื่องของการให้อาชญาบัตรที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะแปลสภาพเป็นประทานบัตรนั้น ย่อมพูดถึงในเรื่องของค่าภาคหลวงท้องถิ่น ท้องที่ จังหวัดอุดรธานีจะได้ 7% ซึ่งเมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ถือว่าได้น้อยมาก เหมือนรัฐไม่เห็นใจประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแท้จริง

 

5. การคำนึงถึงผลของการศึกษาประเด็นหรือปัจจัย ผลกระทบและกลไก การมีส่วนร่วมของประชาชน ย้งไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในประเด็นต่างๆ ยังไม่เกิดความโปร่งใส และรัฐควรมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

 

ประเด็นหรือปัจจัย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ควรจะมีการพัฒนาหรือจัดทำใหม่ขึ้นเพื่อให้ทันและสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน, มาตรการการจัดการกองแร่, ฝุ่นแร่ และน้ำเค็มของโครงการ

 

ประเด็นหรือปัจจัย ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ (HIA) ของประชาชน เช่น ฝุ่นละออง, น้ำเสียที่เกิดจากโครงการ, น้ำเค็มจากโครงการ, เสียงของเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ การทำเหมือง

 

ประเด็นหรือปัจจัย ผลกระทบทางสังคม (SIA) วิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่จะเปลี่ยนไป จากสังคมชนบทเกษตรสู่สังคมเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งค่าใช้จ่ายดำรงชีพและปัญหาสังคมต่างๆในพื้นที่จะตามมามีประชากรแฝงเข้ามาทำงาน มาใช้แรงงานในพื้นที่ ซึ่งปัญหาต่างๆในชุมชนจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ มาใช้พัฒนาชุมชนต้องมีอย่างเหมาะสม การกำหนดมาตรการทางสังคมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบต่างๆจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

 

6. ผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี จะเกิดขึ้นกับชาวจังหวัดอุดรธานีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่จะคุ้มค่าก็คือรายได้ที่จะกลับคืนมา ควรจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีให้มากที่สุด เพราะชาวจังหวัดอุดรธานีจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละด้านมากที่สุด ดังนั้นจุดคุ้มทุนควรจะตกอยู่กับประชาชนไม่ใช่ผู้ลงทุนหรือรัฐบาล

 

ด้วยเหตุนี้ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย จึงมีความเป็นห่วงเป็นใย ต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีเป็นอย่างยิ่ง เราจึงขอให้รัฐบาลชะลอการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด

 

พวกเรา จะคอยเฝ้าระวังโครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งอุดรธานีอย่างใกล้ชิด เป็นหูเป็นตา และเป็นปากเป็นเสียง เพื่อเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้อง จะต่อสู้แทนพ่อแม่พี่น้องของเรา หากมีเหตุการณ์ใดหรือเรื่องใด ที่จะกระทบไปในทางเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ อนามัย และต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของพ่อแม่พี่น้อง พวกเราในนามว่าที่ผู้ส.ส.จังหวัดอุดรธานี พรรคไทยสร้างไทย จะทำหน้าที่สู้เพื่อพ่อแม่พี่น้องอย่างเต็มที่ที่สุด