SET ENERGY ลุ้นโซลาร์ฟาร์มอีอีซี 500 MW เดินหน้าต่อ

04 ก.ค. 2565 | 06:00 น.

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ได้เห็นชอบหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ขนาดกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์

 

โครงการดังกล่าวเป็นไปตามการเสนอของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่จะผลักดันอีอีซี มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) และบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30% จากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ราว 4,475 เมกกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยคาดว่าปี 2580 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องผลักดันการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึงราว 3,000 เมกะวัตต์

 

หลักการดังกล่าวส่งผลให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟภ. ร่วมกับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET ENERGY) ขึ้นมาดำเนินการโดยถือหุ้นในสัดส่วน 20% และ 80 % ตามลำดับ เพื่อทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่

 

จากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ส่งผลต่อการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเกิดการชะลอตัว ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ในแผนพัฒนาพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีของประเทศหรือไม่ จึงส่งผลให้การดำเนินงานเวลานี้ ยังไม่มีความคืบหน้าด้านการก่อสร้าง

 

SET ENERGY ลุ้นโซลาร์ฟาร์มอีอีซี 500 MW เดินหน้าต่อ

 

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยในฐานะผู้ร่วมทุนว่า โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างนัดหารือกับทางอีอีซี ว่าจะยังอยู่ภายใต้นโยบายของอีอีซีหรือไม่ หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ได้เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์

 

รวมทั้ง เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) ซึ่งจะดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าด้วยวิธีการใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน มีระยะเวลาสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลา 20-25 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm

 

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากโซลาร์ฟาร์ม ยังไม่เกิดขึ้นจากการติดปัญหานักลงทุนยังไม่เข้ามาช่วงโควิด ทำให้ยังไม่มีลูกค้าอยู่ในมือที่จะป้อนไฟฟ้าได้ ประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนของกระทรวงพลังงาน ที่จะนำโครงการดังกล่าวเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพี หรือรับซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่งผลให้โครงการนี้ต้องชะลอออกไปจากแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565”

 

นายเขมรัตน์ กล่วอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากมีความชัดเจนด้านนโยบายจากอีอีซีแล้ว ว่าโครงการจะยังอยู่ภายใต้นโยบายอีอีซี หรือจะให้เข้าร่วมประมูลขายไฟฟ้าตามนโยบายของ กพช. ทางบริษัท เซท เอนเนอยี ก็พร้อมจะเข้าไปลงทุนหรือยื่นข้อเสนอประมูลขายไฟฟ้าได้ทันที เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินรวมเนื้อที่ 3,111 ไร่ 2.7 ตารางวา มูลค่าที่ดินรวม 2,093,166,683 บาท เพื่อติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนดินหรือโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 23 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวมราว 316 เมกะวัตต์

 

อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา กำลังผลิตรวม 125 เมกะวัตต์ ใน 9 พื้นที่ จำนวน 1,142 ไร่ ใน 4 อำเภอ ได้แก่ สนามชัยเขต พนมสารคาม ราชสาส์น และบางนํ้าเปรี้ยว จังหวัดชลบุรี กำลังผลิตรวม 94 เมกะวัตต์ ใน 7 พื้นที่ จำนวน 1,041 ไร่ ใน 5 อำเภอ ได้แก่ เกาะจันทร์ พนัสนิคม หนองใหญ่ บ้านบึง และบ่อทอง ระยอง กำลังลิตรวม 97 เมกะวัตต์ ใน 7 พื้นที่จำนวน 929 ไร่ ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง วังจันทร์ แกลง และปลวกแดง จากแผนเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2566

 

ขณะที่การลงทุนกำลังการผลิตติดตั้งอีก 184 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณใช้ไฟฟ้าที่คาดการณ์ในพื้นที่อีอีซี ที่แผนเดิมคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569

 

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะหารือผลักดันให้โครงการนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนดีพีดี แต่เมื่อมีมติ กพช.เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2565 ออกมาแล้ว หากจะเดินหน้าโครงการต่อ ก็จะต้องเข้าประมูลแข่งขัน เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่น ๆ ในการขายไฟฟ้าเข้าระบบ