“ประกันสังคม” จ่ายค่ารักษาโรคมะเร็งกี่ชนิด ได้สิทธิอะไรบ้าง?

03 ก.ค. 2565 | 05:30 น.

“ประกันสังคม” จ่ายค่ารักษาโรคมะเร็งกี่ชนิด ได้สิทธิอะไรบ้าง? พร้อมปัจจัยเสี่ยง และ 10 อันดับโรคมะเร็งที่ประกันสังคมจ่ายค่ารักษาสูงสุดในปี 2564

"มะเร็ง" คือภาวะที่เซลล์ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ทำให้มีการเจริญเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตได้ และทำให้มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย ความผิดปกติของเซลล์นี้สามารถเกิดได้ทุกอวัยวะ  ซึ่งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันไป ส่งผลให้มะเร็งกลายเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นเรื่อย ๆ 

สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยอันดับ 10 โรคมะเร็ง พบบ่อย ค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากสุขภาพของผู้ประกันตนสำคัญ เนื่องจากมะเร็งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

10 อันดับโรคมะเร็งพบบ่อย

ประกันสังจ่ายค่ารักษาสูงสุดในปี 2564 

  1. มะเร็งเต้านม - 68,411,005 บาท
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่ - 36,094,747 บาท
  3. มะเร็งปอด - 13,419,252 บาท
  4. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง - 12,385,878 บาท
  5. มะเร็งรังไข่ - 10,176,427 บาท
  6. มะเร็งปากมดลูก - 3,474,696 บาท
  7. มะเร็งมดลูก - 1,862,323 บาท
  8. มะเร็งท่อน้ำดีและถุงน้ำดี - 1,742,681 บาท
  9. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ - 1,439,438 บาท
  10. มะเร็งต่อมลูกหมาก - 1,322,722 บาท

 

คุ้มครองผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษามะเร็ง

ตามข้อกำหนดของโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน ได้แก่

  • ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ได้แก่ พนักงานประจำ ลูกจ้าง (มนุษย์เงินเดือน) ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
  • ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้แก่ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาจากอาชีพเดิมแต่ยังต้องการสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไว้

 

ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด

  • โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
  • โดยสถานพยาบาลที่เลือกไว้จะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา
  • โดยไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการรักษา และจะไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน
  • ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น การใช้ยาที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ที่จะทำให้สิทธิการรักษามะเร็งขั้นพื้นฐานไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายยาในส่วนนี้
  • การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด จะต้องให้การรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol)
  • ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดไว้ในแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง

 

การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิด

  1. โรคมะเร็งเต้านม
  2. โรคมะเร็งปากมดลูก
  3. โรคมะเร็งรังไข่
  4. โรคมะเร็งมดลูก
  5. โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
  6. โรคมะเร็งปอด
  7. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ตรง
  8. โรคมะเร็งหลอดอาหาร
  9. โรคมะเร็งตับ และท่อน้ำดี
  10. โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  11. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  12. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  13. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่
  14. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่
  15. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
  16. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL)
  17. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่
  18. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่
  19. โรคมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่
  20. โรคมะเร็งเด็ก

 

การรักษาโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol)

  • กรณีมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
  • กรณีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 20 ชนิดนี้ ที่มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

 

ตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ที่   คลิกที่นี่ 

ข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม , มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง