"บางจาก" เร่งศึกษา Blue Carbon เกาะหมาก ดูดซับคาร์บอน สู่ Net Zero

01 ก.ค. 2565 | 06:04 น.

กลุ่มบางจากฯ เดินหน้าสู่ Net Zero ด้วยแผน “BCP NET” ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงสะอาด กักเก็บดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ พร้อมเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด รับสังคมคาร์บอนต่ำ เร่งศึกษา Blue Carbon กักเก็บคาร์บอน เกาะหมาก

 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาว

 

ภายใต้ B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น

 

"บางจาก" เร่งศึกษา Blue Carbon เกาะหมาก ดูดซับคาร์บอน สู่ Net Zero

 

C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1. ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่น โครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2. ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล

 

 P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี ค.ศ. 2030

 

NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น Bangchak 100x Climate Action ทุกคนช่วยได้

 

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานล่าสุด กลุ่มบริษัทได้สนับสนุนเกาะหมากมุ่งสู่ Low Carbon โดยได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด อ. เกาะกูด จ.ตราด และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ที่เร่งศึกษา Blue Carbon ในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการัง เพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination หรือเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยโดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปี 2564 ระบุว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัว จะมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจโดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด