ค่าครองชีพพุ่งขนส่งสุดอั้น สินค้า-ค่าโดยสารพาเหรดขึ้นยกแผง

01 ก.ค. 2565 | 21:55 น.

เขื่อนแตก สินค้าพาเหรดปรับขึ้นราคาอีกระลอกรับครึ่งปีหลัง คมนาคมปล่อยค่าโดยสารขึ้นยกแผง ทั้งรถบัสต่างจังหวัด-ร่วมบขส. เรือด่วนเจ้าพระยา-คลองแสนแสบ เบียร์ลีโอขึ้นขวดละ 1 บาท สหพัฒน์วอนรัฐขอขึ้น“มาม่า”แกร็ปฟู้ดตรึงค่าGPไม่เกิน 30% แต่ร้านอาหารปรับขึ้นอ้างค่าส่ง

 กระแสปรับขึ้นราคาสินค้าระลอกใหญ่อีกครั้งตั้งแต่กลางปีนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจะให้ขึ้นราคาสินค้าที่ผู้ผลิตขอปรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของต้นทุนการผลิตของแต่ละยี่ห้อ และลงลึกรายละเอียดในแต่ละล็อตการผลิต เพื่อดูแลผู้บริโภคให้ดีที่สุด

 

โดยล็อตใดต้นทุนไม่ขึ้นมากก็ขึ้นราคามากไม่ได้ ล็อตใดที่ต้นทุนอยู่เท่าเดิมก็จะตรึงราคาไว้ ส่วนล็อตใดที่ต้นทุนสูงขึ้นจริงก็จะพิจารณาตามข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าต้นทุนสูงขึ้นจริงก็จะต้องปรับ เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นของจะขาด แทนที่จะมีปัญหาเรื่องราคาข้อเดียว ซึ่งจะดูให้พออยู่ได้และขึ้นราคาให้น้อยที่สุด เพื่อให้กระทบประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศน้อยที่สุด

ค่าครองชีพพุ่งขนส่งสุดอั้น สินค้า-ค่าโดยสารพาเหรดขึ้นยกแผง

“กรมการค้าภายในจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องการปรับราคา สำหรับมาม่า ขอขึ้นราคามาหลายครั้งแล้ว และกรมการค้าภายในพิจารณาอยู่ อะไรที่จะมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก็จะต้องดูด้วยความรอบคอบ และดูให้ลึกในรายละเอียดจริง ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าจะดูเฉพาะผู้บริโภค ต้องให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย เพราะถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ของก็จะขาด ต้องดูให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

ทั้งนี้ รายการราคาสินค้ามีทั้งคงเดิมที่ตรึงไว้ได้ ปรับขึ้น และมีที่ลดลง ที่ก็มีหลายรายการ เช่น ATK ราคาปรับลดลง 30-40 % ฟ้าทะลายโจร ราคาปรับลดลงมา แม้แต่ข้าวสารถุงราคาก็ปรับลดลงมาบางรายการเป็นเรื่องของฤดูกาล เช่น มะนาว หน้าแล้งจะแพงจากผลผลิตน้อย หน้าฝนมีมากราคาก็จะถูกลง เหมือนตอนนี้ ส่วนผักชีเจอน้ำท่วมราคาจะแพง จากผลผลิตเสียหายและสินค้าขาดตลาด เมื่อปลูกเสริมเข้ามาใหม่ปริมาณมากขึ้นราคาก็จะลดลง เป็นต้น

ขณะที่นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ทางกรมฯ ได้อนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเสนอมา โดยเป็นการปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก

เมล์สายยาวขึ้นกม.ละ5สตางค์

ขณะที่ค่าโดยสารรถ-เรือสาธารณะที่แบกค่าน้ำมันแพงต่อไม่ไหว คณะกรรมการขนส่งงบกกลาง อนุมัติปรับให้ขึ้น ค่าโดยสารรถระหว่างจังหวัด และรถร่วม บขส. ในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร (100 กม.ขึ้น 5 บาท) เริ่ม 4 ก.ค.2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เดิมผู้ประกอบการรถโดยสารเอกชน และรถร่วมบขส.ยื่นขอมา 10 สตางค์ต่อกม. แต่บอร์ดขนส่งฯอนุมัติที่ 5 สตางค์ จากนี้จะติดตามดัชนีผู้บริโภค(CPI) และสถานการณ์พลังงาน 3 เดือนแรก เพื่อพิจารณาการจะปรับขึ้นหรือลดราคาต่อไปหรือไม่

 

“ได้มอบประธานบอร์ดควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หารือกับผู้ประกอบการให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน มีปรับขึ้นก็ต้องมีปรับลงได้ เราเข้าใจทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการที่ต้องไปด้วยกัน ไม่ทำแบบสุดโต่ง ที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องไม่หยุดให้บริการ”
กรุงเทพฯ-สมุยเฉียด 1 พัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร จะส่งผลให้ค่าโดยสารปรับขึ้นตามระยะทาง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด มีเส้นทางเดินรถสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางหลักจะมีการปรับราคาขึ้น อาทิ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ระยะทาง 713 กิโลเมตร เดิมมีอัตราค่าบริการเริ่มต้น 617 บาท จะปรับขึ้นอีกประมาณ 36 บาท เริ่มที่ 653 บาท

 

เส้นทางกรุงเทพฯ - ขอนแก่น มีระยะทาง 444 กิโลเมตร เดิมราคาเริ่มต้น 397 บาท จะปรับขึ้นราว 22 บาท เป็นราคาเริ่มต้น 419 บาท ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เกาะสมุย รถวีไอพี ค่าโดยสารรถร่วม บขส. อยู่ที่ 860 บาท ค่าโดยสารใหม่อยู่ที่ประมาณ 963 บาท มีส่วนต่างประมาณ 103 บาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต รถ ป.1 ค่าโดยสาร 637 บาท ค่าโดยสารใหม่ อยู่ที่ประมาณ 715 มีส่วนต่างประมาณ 78 บาท

 

ขสมก.ขอปรับ12บาท

ด้านนายบรรยง อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์กรุงเทพฯและปริมณฑล (รถร่วมขสมก.) กล่าวว่า ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงบอร์ดคุมการขนส่งฯ เพื่อขอปรับค่าโดยสารรถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 (รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดต้นทางและปลายทางอยู่ระหว่างอำเภอกับจังหวัดหรือระหว่างอำเภอ) ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้

 

โดยสองแถว ขอขึ้นจาก 8 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์จาก 10 บาท เป็น 12 บาท จากราคาเอ็นจีวี ก็ปรับขึ้นจาก 8.50 บาท เพิ่มเป็น 15.50 บาท ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย และหยุดวิ่งไปหลายรายแล้ว หากไม่ได้รับการพิจารณาจะเคลื่อนไหวต่อไป

เจ้าพระยา-แสนแสบขึ้นแล้ว

นาวาตรีเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเส้นทางระหว่างท่าเรือปากเกร็ดถึงท่าเรือวัดราชสิงขร กล่าวว่า จากราคาน้ำมันดีเซลขึ้นต่อเนื่องไปชนเพดาน 32.99 บาทต่อลิตร จึงจำเป็นต้องปรับอัตราค่าโดยสาร เรือธงส้ม ธงเหลือง ธงเขียว ขึ้นอีก 1 บาทจากอัตราเดิม เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามประกาศอนุมัติของกรมเจ้าท่า

 

เช่นกันนายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าออกประกาศอัตราค่าโดยสาร ตามที่บริษัทฯได้ยื่นขอไป โดยให้ปรับขึ้นได้ 1 บาท จากเดิม ที่มีราคา 9-19 บาท เป็น 10-20 บาท ตามระยะทาง ตั้งแต่ 15 มิ.ย 2565 เช่นกัน

รถไฟฟ้าMRT-BTSยังไม่เคาะ

ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าMRTและบีทีเอส ยังไม่ขึ้น โดยคมนาคมให้ MRT คงราคาเดิมไปก่อน ส่วนบีทีเอส ที่จะเรียกเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวส่วนต่อขยายหัวท้าย ท่อนละ 15 บาท รวมท่อนกลางเดิม 44 บาท รวมเป็นสุงสุด 59 บาท ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ ตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เสนอ เวลานี้มีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย ว่าเป็นอัตราค่าโดยสารที่ยังสูงเกินไป ไม่จูงใจให้คนใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนพื้นฐาน รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่เสนอว่าราคาสูงสุดตลอดสายไม่ควรเกิน 44 บาท

 

โดยนายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอทั้งหมดสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณา ทั้งเรื่องราคาที่ 44 บาทนั้น เป็นราคาสูงสุดของช่วงตรงกลางที่ให้สัมปทานอยู่แล้ว ถ้ากำหนดเพดานสูงสุดตรงนี้ วิ่งออกไปส่วนต่อขยาย กทม. จะไม่ได้เงินเลย จึงต้องคำนวณตัวเลขมาให้เปรียบเทียบกับสายอื่น ซึ่งต้องอธิบายได้ว่า ทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าไหร่

ปรับขึ้นราคาเบียร์ลีโอ

เครื่องดื่มแบกน้ำหนักขนส่งต่อไม่ไหว หลังจากที่เอเย่นต์ตัวแทนจำหน่ายของบุญรอดเทรดดิ้ง แจ้งร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ขอปรับขึ้นราคาเบียร์ลีโอ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นี้เป็นต้นไป ล่าสุดนายภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ออกมาชี้แจงว่า บุญรอดฯ ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกและขายส่งเบียร์ลีโอ โดยลีโอขวดใหญ่ (620ml) ปรับขึ้น 12 บาทต่อลัง หรือเท่ากับปรับขึ้น 1 บาทต่อขวด, ขวดเล็ก (320ml) ปรับขึ้น 18 บาทต่อลัง หรือเฉลี่ยขวดละ 0.75 บาท, กระป๋องยาว (490ml) ปรับขึ้น 11 บาทต่อลัง หรือ 0.90 บาทต่อกระป๋อง และ กระป๋องสั้น (320ml) ปรับขึ้น 18 บาทต่อลังหรือกระป๋องละ 0.75 บาท

 

สำหรับราคาขายปลีกเบียร์ลีโอจะเพิ่มขึ้นลังละ 12 บาท และถาดละ 18 บาท ทำให้ราคาเบียร์ลีโอขวดใหญ่จะอยู่ที่ขายส่ง 616 บาทต่อลัง ขายปลีก 626 บาทต่อลัง และ 59 บาทต่อขวด ส่วนกระป๋องเล็กอยู่ที่ขายส่ง 750 บาทต่อถาด ขายปลีก 762 บาทต่อถาด และ 39 บาทต่อกระป๋อง

 

“บริษัทขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายในการปรับลดปริมาณสินค้าอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทพยายามตรึงราคาเบียร์ลีโอ โดยไม่มีการปรับขึ้นราคา หรือปรับลดปริมาณสินค้า ทุกขนาดบรรจุ มาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานและวัตถุดิบ”

เร่งเจรจาขึ้นราคา“มาม่า”

ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธาน เครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า สภาวะสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน ส่งผลกระทบให้ต้นทุนวัตถุดิบสำคัญของเครือสหพัฒน์ปรับตัวขึ้นยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า ซึ่งมีวัตถุดิบสำคัญอย่างแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม มีสัดส่วนในต้นทุนการผลิตถึง 60 % ปัจจุบันราคาปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่าตัวแล้ว

 

ก่อนหน้านี้บริษัทได้ปรับขึ้นราคาขายส่งเฉลี่ย 0.083 สตางค์ต่อซอง ส่วนขนาดลัง 6 กล่องกล่องละ 30 ซอง ปรับราคาส่งขึ้นเฉลี่ยกล่องละ 3 บาท ซึ่งจะส่งผลให้กำไรร้านค้ากับลดลงเหลือเพียงซองละ 75 สตางค์จากเดิมที่ได้กำไรซองละ 1 บาท

 

“ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและผงซักฟอก โดยมาม่าขอปรับขึ้น 1 บาท จาก 6 บาท เป็น 7 บาท”
 ขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ซื่อสัตย์” ยังขายราคาเดิมคือซองละ 6 บาท จะมีเพียงโยเกิร์ต “วินามิลค์” ที่ปรับขึ้นราคาถ้วยละ 2 บาท จากเดิม 15 บาท เป็น 17 บาท เนื่องจากต้นทุนนมผงที่เป็นวัตถุดิบหลัก และต้นทุนการขนส่ง ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น

แกร็ปฟู้ดคงGP

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาวัตถุดิบของอาหารเพิ่มสูงขึ้นอาจมีผลให้พาร์ท เนอร์ร้านค้าบางราย ปรับขึ้นราคาค่าอาหารในบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องและสร้างความสมดุลในเชิงธุรกิจ

 

ทั้งนี้ แกร็บ ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี มีการสนับสนุน พาร์ทเนอร์ร้านอาหารผ่านแคมเปญต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย และเพิ่มการมองเห็นให้แก่ร้านขนาดเล็ก หรือแพ็คเกจส่วนลดแบบเหมาจ่าย เป็นทางเลือกเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้บริโภค
 

ส่วนแกร็บไม่ได้มีการปรับอัตราค่าส่งอาหาร หรือค่าคอมมิชชัน (GP) จากพาร์ทเนอร์ร้านค้า โดยยังคงอัตราค่าคอมมิชชันสูงสุดไม่เกิน 30% และไม่มีแผนการพิจารณาปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าเหมาะสม และสามารถนำมาจัดสรร เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนในวงจรธุรกิจของแกร็บได้อย่างสมดุลในระยะยาวแล้ว ทั้งในแง่ของรายได้ของพาร์ทเนอร์ คนขับ การสนับสนุนพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร และในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกฝ่าย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,797 วันที่  3-5 กรกฎาคม พ.ศ.2565