มาเลย์รุกหนักตลาดไฮเอนด์ บัลลังก์แชมป์ทุเรียนไทยในจีนสะเทือน

24 มิ.ย. 2565 | 08:14 น.

“ทุเรียน” ราชาผลไม้ โปรดักส์แชมป์เปี้ยนสินค้าเกษตรตัวใหม่ของไทย ในปีที่ผ่านมาส่งออกได้ทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก (ส่งออกได้กว่า 1.19 แสนล้านบาท) มีตลาดหลักกว่า 90% อยู่ที่จีน ในปีที่ผ่านมาทุเรียนไทยสามารถทำเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 7 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ดีข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ มีอย่างน้อย 10 ปัจจัยเสี่ยงของทุเรียนไทยที่ต้องพึ่งระวัง เช่น เรื่องคุณภาพ โรคระบาด (นโยบาย Zero Covid ของจีน) การสวมสิทธิ์ทุเรียนไปจีนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง การขาดแคลนแรงงาน และผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นต้น

 

ปัจจุบันตลาดทุเรียนไทยในจีนมีคู่แข่งเบอร์ 1 คือมาเลเซีย(แต่ปริมาณและมูลค่ายังต่างกันมาก) ขณะที่เพื่อนบ้านอีกหลายประเทศกำลังตื่นตัว และได้เร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตทุเรียนทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก ซึ่งในอนาคตจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยในจีนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม สปป.ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา

 

มาเลย์รุกหนักตลาดไฮเอนด์ บัลลังก์แชมป์ทุเรียนไทยในจีนสะเทือน

 

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงจากตลาดปลายทางคือ จีนได้สร้างผลผลิตทุเรียนเองในประเทศ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้  เกษตรกรในมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศถึงความสำเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนสายพันธุ์มูซังคิง (Musang King) และทุเรียนพันธุ์หนามดําที่เป็นที่นิยมในตลาดจีน โดยนำต้นกล้าไปจากมาเลเซีย พื้นที่ทดลองปลูกประมาณ 42 ไร่ คาดจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนตุลาคมนี้ และจะขยายพื้นที่ปลูกในอนาคต นอกจากนี้มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีนก็ประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนหมอนทองของไทยและทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียแล้ว 

 

อย่างไรก็ดีในช่วง 5 ปีนับจากนี้ดูจากภาพรวมแล้ว คาดจะยังไม่มีชาติใดล้มไทยที่เป็นแชมป์ทุเรียนในจีนได้ โดยจากการคาดการณ์ของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศฯ ในปี 2569 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า คาดผลผลิตทุเรียนไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.90 ล้านตัน(จากปี 2565 คาดผลผลิต 1.32 ล้านตัน) ในจำนวนนี้จะส่งออกได้ส่งออก  1.90 ล้านตัน  และบริโภคในประเทศ 9.99 แสนตัน, ส่วนผลผลิตทุเรียนมาเลเซียปี 2569 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.27 แสนตัน ในจำนวนนี้คาดจะส่งออกได้ราว 8.97 หมื่นตัน บริโภคในประเทศ 4.37 แสนตัน

 

ส่วนเวียดนาม ผลผลิตทุเรียนปี 2569 คาดอยู่ที่ 7 แสนตัน ส่งออก 1.89 แสนตัน บริโภคในประเทศ 5.11 แสนตัน และอินโดนีเซีย คาดผลผลิตทุเรียนปี 2569 อยู่ที่ 1.33 ล้านตัน ส่งออก 1.33 หมื่นตัน บริโภคในประเทศ 1.31 ล้านคัน และฟิลิปปินส์ คาดผลผลิตอยู่ที่  1.34 แสนตัน ส่งออกได้  2.0 หมื่นตัน  บริโภคในประเทศ 1.13 แสนตัน

 

มาเลย์รุกหนักตลาดไฮเอนด์ บัลลังก์แชมป์ทุเรียนไทยในจีนสะเทือน

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าห่วงคือโมเดล หรือรูปแบบ การทำตลาดของทุเรียนของมาเลเซียในจีน ที่อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดไทยไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ เมืองหนานหนิง เผยว่า เวลานี้การทำตลาดทุเรียนของมาเลเซียในจีนได้มุ่งไปยังการสร้างแบรนด์ โดยร้านจำหน่ายเฉพาะทุเรียน Musang King กำลังเป็นกระแสที่มาแรง ส่วนใหญ่เปิดอยู่ในเมืองอันดับ 1 และอันดับ 2 ของจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีกำลังการบริโภคสูงและขายได้ราคาสูง อาทิ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว หางโจว หนานจิง หยางโจว หนิงโป ซูโจว เซี่ยเหมิน เป็นต้น

 

ด้วยการออกแบบร้านที่ทันสมัย เทียบกับร้านจำหน่ายผลไม้ทั่วไปแล้วถือว่าอยู่ระดับไฮเอนด์ จำหน่ายทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกเป็นหลัก รวมทั้งสินค้าแปรรูปจากเนื้อทุเรียน เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อทุเรียนแช่แข็ง ไอศกรีมทุเรียน เค้กทุเรียน ทาร์ตไข่ทุเรียน พิซซ่าทุเรียน ขนมเปี๊ยะไส้ทุเรียน เป็นต้น

 

ปัจจุบันแบรนด์ร้านจำหน่ายทุเรียนพันธุ์ Musang King  ของมาเลเซียในจีนที่ขึ้นชื่อ เช่น Musang-King มี 59 สาขา, แบรนด์ Baiguoyu Musang King (D197 SHOP) มี 40 สาขา และยังมีแบรนด์อื่นตามเมืองท้องถิ่น เช่น Aiguoli Musang King ของเมืองหนานหนิง โดยร้านสาขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก

 

มาเลย์รุกหนักตลาดไฮเอนด์ บัลลังก์แชมป์ทุเรียนไทยในจีนสะเทือน

 

นอกจากนี้สินค้าทุเรียนของมาเลเซียในจีนยังมีการจำหน่ายผ่านร้านจำหน่ายผลไม้เชนสโตร์ ระดับพรีเมียม,ซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้านำเข้าโดยเฉพาะ รวมถึงการเปิดร้านแฟล็กชิปสโตร์ต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มชั้นนำของจีนเช่น JD, Taopao, Meituan, Applets บน WeChat

 

ขณะที่รูปแบบการทำตลาดทุเรียนไทยในจีน ณ ปัจจุบัน ในรูปแบบออฟไลน์จะขายผ่าน ตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีกผลไม้และผักสด, ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายผลไม้โดยเฉพาะ แผงลอย และอื่น ๆ ส่วนรูปแบบออนไลน์จะขายผ่านแพลตฟอร์ม JD,Taobao, Meituan, Suningyigou, Applets บน WeChat  ฯลฯ

 

จากรูปแบบการทำตลาดทุเรียนของมาเลเซียในจีนที่นำไทยไปอีกก้าว เน้นการสร้างแบรนด์เป็นหลัก และขายได้ราคาสูง  เช่น ทุเรียน Musang King แช่แข็งทั้งลูกราคาจำหน่าย 238 หยวนต่อกิโลกรัม(กก.) (1,190 บาทต่อ กก.) ทุเรียนหนามดำแช่แข็งทั้งลูกราคาจำหน่าย 440-520 หยวนต่อ กก. (2,200-2,600 บาทต่อ กก.) เนื้อทุเรียน Musung King น้ำหนัก 400 กรัม ราคาจำหน่าย 188 หยวนต่อกล่อง (940 บาท) เนื้อทุเรียนหนามดำ น้ำหนัก 400 กรัม ราคาจำหน่าย 299 หยวนต่อกล่อง (1,495 บาท) เป็นต้น

 

ขณะที่ทุเรียนไทยในเรื่องการสร้างแบรนด์ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่คิดจะทำ ดังนั้นควรเร่งมือกันได้แล้ว เพื่อให้ทุเรียนไทยในจีนไปต่อได้อย่างมั่นคงยั่งยืน และครองแชมป์ในจีนไปตราบนานเท่านาน