โรงกลั่นยื้อเฉือนเนื้อค่ากลั่น หวั่นผู้ถือหุ้นฟ้อง พลังงานบี้ให้จบ มิ.ย.

22 มิ.ย. 2565 | 07:00 น.

ลุ้นระทึก ลดราคาน้ำมัน กลุ่มโรงกลั่นยังไม่ยอมคายกำไรค่าการกลั่น หวั่นผู้ถือหุ้นฟ้อง ขอความชัดเจนกฎหมายเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ “กุลิศ” เร่งตั้งคณะทำงานศึกษาหาข้อสรุปภายในสิ้น มิ.ย.นี้ พร้อมถกสูตรจ่ายเงิน ปตท.ยันต้องช่วยเหลือยามวิกฤตพลังงาน

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนอยู่ในระดับสูง ล่าสุดราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 109 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ 114 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 108 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก เบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ระดับ 151 ดอลลาร์สรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันก๊าดและอากาศยาน 166 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาส่วนต่างระหว่างน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูปห่างกันค่อนข้างมาก นำมาซึ่งค่าการกลั่นของบรรดาโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย

 

ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนับจากปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานค่าการกลั่นที่ใช้อ้างอิงระหว่างวันที่ 1-20 มิถุนายน 2565 เฉลี่ยสูงถึง 6.35 บาทต่อลิตร หรือเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.63 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2564 อยู่ที่ 0.89 บาทต่อลิตร

 

ค่าการกลั่นที่สูงอยู่เวลานี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมากดดันรัฐบาล ให้หามาตรการที่จะดึงเงินจากค่าการกลั่นที่มีกำไรสูงอยู่มาช่วยลดราคาน้ำมันช่วยเหลือประชาชนที่ต้องแบกรับภาระมากอยู่ในเวลานี้ แต่ดูเหมือนว่า จะยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้

 

โรงกลั่นยื้อเฉือนเนื้อค่ากลั่น หวั่นผู้ถือหุ้นฟ้อง พลังงานบี้ให้จบ มิ.ย.

 

รีดโรงกลั่นไร้ข้อสรุป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ยังไม่มีข้อสรุปว่า โรงกลั่นจะแบ่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นน้ำมัน เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือนำมาช่วยลดราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชนได้ในอัตราใด เนื่องจากยังติดข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แม้กลุ่มทางโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง จะให้ความร่วมมือหรือจะแบ่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นออกมาก็ตาม

 

ทั้งนี้ กลุ่มโรงกลั่นต้องการความชัดเจนของข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 มาตรา 14(4) ที่กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนน้ำมันฯ มีอำนาจ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 27(1) ที่ให้โรงกลั่นน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนให้แก่กรมสรรพสามิต ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่าย ได้หรือไม่

 

ดังนั้น กบน.จึงจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าวให้มีความชัดเจนรองรับนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะกลุ่มโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) ทั้งหมด จะต้องปฏิบัติตามกฎของ ต.ล.ท. ไม่ว่าจะเป็นการขอมติจากคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขอมติจากผู้ถือหุ้น หากไม่มีกฎหมายรองรับ การจะแบ่งส่วนกำไรจากค่าการกลั่นออกมา เกรงว่าจะถูกฟ้องร้องจากผู้มีส่วนได้เสียได้ อีกทั้งกองทุนน้ำมันฯ จะถูกฟ้องจากบรรดากลุ่มโรงกลั่นด้วย

 

กุลิศ  สมบัติศิริ

 

 

“กลุ่มโรงกลั่นยินดีจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ที่จะแบ่งกำไรจากค่าการกลั่น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากกราคาน้ำมันที่สูงอยู่ในเวลานี้ แต่ขอให้มีการประกาศข้อกฎหมายมารองรับ เพราะอยู่ดี ๆ จะตัดกำไรบางส่วนไปให้กองทุนน้ำมันฯ เลย คงจะมีผู้ส่วนได้ส่วนเสียฟ้องโรงกลั่นได้ ซึ่งจะต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี คาดว่าจะใช้เวลาเร็วที่สุดไม่เกิน 1-2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อชัดเจนออกมา” นายกุลิศกล่าว

 

เร่งหาวิธีคิดสูตรจ่ายเงิน

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ส่วนวงเงินที่จะแบ่งจากกำไรค่าการกลั่นนั้น ก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่า จะต้องนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯในอัตราเท่าใด เพราะแต่ละโรงกลั่น ก็มีค่าการกลั่นน้ำมันไม่เท่ากัน ต้นทุนการผลิตไม่เหมือนกัน เช่น แหล่งน้ำมันดิบที่นำเข้ามา การขาดทุนจาก Stock น้ำมัน การขาดทุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าราคาที่ทำประกันความเสี่ยงไว้ เป็นต้น

 

ดังนั้น ระหว่างนี้กลุ่มโรงกลั่นจะกลับไปคิดคำนวณค่าการกลั่นของแต่ละโรงกลั่นเอง และนำกลับมาหาข้อสรุปอีกครั้งว่า จะต้องแบ่งกำไรค่าการกลั่นในรูปแบบใด ซึ่งมีทั้งวิธีการคำนวณเป็นสูตร หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ ตามการใช้กำลังการกลั่นจริง หรือในรูปแบบตัดแบ่งกำไรเป็นก้อนมาให้ ซึ่งต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้ง

 

ปตท.พร้อมอุ้มผู้บริโภค

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ โรงกลั่นพีทีทีจีซี และโรงกลั่นไออาร์พีซี รวมกำลังการผลิตราว 6.35 แสนบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตของประเทศ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน กล่าวถึง การขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล การจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน โรงแยกก๊าซ เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ทางกลุ่มปตท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ แต่ต้องมีความชัดเจน และอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ให้ความร่วมมือ และให้การช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ หากต้องตัดกำไรบางส่วนจากค่าการกลั่นน้ำมันออกมา ต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วย เพราะธุรกิจโรงกลั่น มีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำ ประสบกับภาวะขาดทุน ขณะที่ยามที่เกิดภาวะไม่ปกติเวลานี้ ก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือ

 

“ในฐานะที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีนักลงทุนและผู้ถือหุ้น สอบถามเข้ามา โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่มีความเป็นห่วงกับนโยบายนี้ แต่ก็เป็นเรื่องอธิบายได้ เพราะบทบาทหนึ่งของปตท.คือการดูแล ด้านสังคม สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก การทำธุรกิจ ต้องมีนโยบายเรื่องของอีเอสจี”

 

ในรายงาน ปตท.ระบุว่า ค่าการกลั่นของกลุ่มปตท.ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เป็นต้นมาจาก 5.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาสแรกปี 2565 และยังคาดการณ์ว่า ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10.5-11.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จากระดับราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 98-103 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

โรงกลั่นยื้อเฉือนเนื้อค่ากลั่น หวั่นผู้ถือหุ้นฟ้อง พลังงานบี้ให้จบ มิ.ย.

 

จี้ออกกฎหมายเก็บภาษีเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เห็นด้วยกับแนวทางการตั้งคณะทำงานเพื่อมาศึกษาข้อกฎหมายและศึกษาการคำนวณสัดส่วนจากกำไรค่าการกลั่นที่จะจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ทิศทางไปในแนวทางเดียวกัน ป้องกันการสับสนของข้อมูล ที่จะไปสร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งแนวทางของกฎหมายและวิธีการจัดเก็บ คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อที่กลุ่มโรงกลั่นจะได้ทราบแนวทางว่าจะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ถือหุ้นด้วยหรือไม่ หรือหากประกาศเป็นข้อกฎหมาย ก็สามารถปฏิบัติได้ทันที

 

ทั้งนี้ การเรียกเก็บกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่น ไม่ได้ดำเนินงานเพียงไทยเท่านั้น เพราะวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างวางแผนจะเสนอกฎหมายเรียกเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (surtax) จากกำไรส่วนเกินของบริษัทน้ำมัน โดยจะเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตรา 21% จากบริษัทน้ำมันและก๊าซที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทที่มีกำไรมากกว่า 10% จะต้องจ่ายภาษีดังกล่าว

 

ขณะที่การเรียกเก็บกำไรจากค่าการกลั่นยังไม่ได้ข้อสรุป ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของ 6 โรงกลั่นปรับตัวลดลงตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน เป็นต้นมา โดย PTTGC ราคาปิดที่ 42.25 บาทจากวันก่อนหน้า 43.75 บาทลดลง 1.5 บาท TOP ราคาปิดที่ 49.50 บาท จากวันก่อนหน้า 53.25 บาทลดลง 3.75 บาท IRPC ราคาปิดที่ 3.12 บาท จากวันก่อนหน้า 3.30 บาทลดลง 0.18 บาท SPRC ราคาปิดที่ 11.30 บาท จากวันก่อนหน้า 12.50 บาทลดลง 1.2 บาท BCP ราคาปิดที่ 29.25 บาท จากวันก่อนหน้า 32.25 บาทลดลง 3 บาท และ ESSO ราคาปิดที่ 10.70 บาท จากวันก่อนหน้า 11.80 บาท ลดลง 1.1 บาท

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน 2565