สคบ.เชือด “ดารุมะซูชิ” ผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอีก 2 ข้อหา

21 มิ.ย. 2565 | 04:43 น.

สคบ.เชือดบริษัท ดารุมะ ซูชิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ขายบุฟเฟ่ต์แซลมอน เบี้ยวผู้บริโภค ปิดบริการกะทันหัน รับนอกจากผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องของการทำสัญญาแล้ว ล่าสุดยังตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเพิ่มอีก 2 ข้อหาใหญ่ กระทบสิทธิผู้บริโภค คาดได้ข้อสรุปไม่นานนี้

จากกรณี ร้านดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi) บุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดัง ดำเนินการโดยบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ได้เปิดขายวอยเชอร์ (e-Voucher) บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นราคาถูก จนคนแห่เข้าไปจองซื้อจำนวนมาก แต่สุดท้ายกลับแจ้งปิดบริการกระทันหัน จนทำให้มีผู้เสียหายไปร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เกือบ 500 ราย นั้น 

 

ความคืบหน้าล่าสุด นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สคบ. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ สคบ. จะรายงานเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค เสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบ

 

เบื้องต้นนอกจากเรื่องความผิดเกี่ยวกับการทางด้านสัญญาแล้ว สคบ.ยังเตรียมตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคอีก 2 เรื่อง ทั้งเรื่องการโฆษณา และเรื่องธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ล่าสุดเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบรายละเอียดของการกระทำผิดว่าเป็นอย่างไร คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป

 

ดารุมะ ซูชิ ขายบุฟเฟ่ต์แซลมอน

สำหรับการตรวจสอบเบื้องต้นในด้านการโฆษณานั้น สคบ.จะกลับไปเช็คข้อความโฆษณาก่อนหน้าที่ ซึ่งพบว่าการนำเข้าปลาแซลมอนนั้น เคยมีการโฆษณาว่ามาจากประเทศหนึ่ง แต่เมื่อทำการสอบถามกับผู้จัดการร้านที่เชิญมาประชุมครั้งล่าสุด ก็ไม่สามารถระบุถึงที่มาได้ว่ามาจากประเทศที่โฆษณาไว้จริงหรือไม่ หากตรวจสอบข้อมูลพบว่าไม่จริง ก็ถือว่าทำผิดด้านโฆษณา รวมไปถึงคำโฆษณาอื่น ๆ อีกด้วย

 

อีกเรื่องคือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้านการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง จากการตรวจสอบเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่พบว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ซึ่งมีการว่าจ้างบริษัทจัดทำแอปพลิเคชัน Daruma Sushi เพื่อเปิดขาย e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน นั้น ไม่ได้มีการจดทะเบียนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง จึงถือว่ามีความผิดชัดเจน

 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ว่า ได้สั่งการให้ช่วยเหลือประชาชนที่ซื้อคูปองของร้านซูชิดังกล่าวแล้ว แม้ สคบ. จะไม่ได้มีหน้าที่ดำเนินการโดยตรง แต่ได้สั่งให้รับเรื่องร้องทุกข์และให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชน 

 

โดยให้ประสานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หลังมีรายงานว่าผู้บริหาร บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ได้หนีออกนอกประเทศแล้ว เบื้องต้นประเมินว่ามูลค่าความเสียหายจากเรื่องนี้น่าจะมีจำนวนมาก 

 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม. วันนี้

“จากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเบื้องต้นพบว่า เข้าข่ายลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นคดีอาญา และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว และยังขอฝากเตือนประชาชนให้ศึกษาข้อมูลว่าผู้ประกอบการมีความสามารถดำเนินธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมสั่งการไปยัง สคบ.ให้ทำงานเชิงรุก ตรวจสอบผู้ประกอบการหากมีการโฆษณาเกินจริง หรือขายราคาถูกเกินไป ต้องรีบเข้าไปดำเนินการ” นายอนุชา ระบุ

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวต่อ สคบ. จำนวน 481 ราย โดยมีมูลค่าเสียหายประมาณ 8 แสนกว่าบาท มีกลุ่มผู้เสียหาย 3 กลุ่ม ดังนี้ 

  1. กลุ่มของผู้บริโภคที่ซื้อมาเพื่อบริโภคโดยตรง 
  2. ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินกิจการ 
  3. ผู้ที่ซื้อคูปองเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ

 

สคบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดารุมะ ซูชิ

 

ขณะที่การดำเนินการของ สคบ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด และร้านดารุมะ ซูชิ สาขาบริเวณถนนรามอินทรา สาขาเดอะคริสตัล เอกมัย - รามอินทรา สาขาอมอรินี่ สวนสยาม และสาขาเมเจอร์ รัชโยธินแล้ว และได้ประสานให้ผู้จัดทำแอปพลิเคชัน Daruma Sushi ผู้จัดการของร้านดารุมะ ซูชิ และบุคคลที่อ้างว่าซื้อแฟรนไชส์ ร้านดารุมะ ซูชิ มาให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว 

 

โดยได้รับแจ้งจากผู้จัดการสาขาว่า ปัจจุบันร้านดารุมะ ซูชิ มีสาขาทั้งหมด 27 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ 20 สาขา และเป็นสาขาของนายเมธา ชลิงสุข กรรมการผู้มีอานาจลงนามผูกพันบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จำนวน 7 สาขา คือ สาขาอ่อนนุช, สาขาอุดมสุข, สาขาสวนสยาม, สาขาเฉลิมพระเกียรติ, สาขาเมเจอร์รังสิต, สาขาเมเจอร์รัชโยธิน และสาขาพาราไดซ์