หายห่วง 22 ลูกจ้าง"โพสต์ทูเดย์"ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิครบตามกฎหมาย

21 มิ.ย. 2565 | 03:29 น.

คืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกรณี"ลูกจ้างโพสต์ทูเดย์"ถูกเลิกจ้าง รมว.แรงงาน"เฮ้ง" เผยหลังสั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ ด้านนายจ้างพร้อมจ่ายค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างครบทุกราย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกรณีลูกจ้างโพสต์ทูเดย์ถูกเลิกจ้าง ว่า ตามที่ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในทันทีภายหลังทราบข่าวดังกล่าว

 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

ล่าสุดในวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา พนักงานตรวจแรงงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ได้เข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า

บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) มีลูกจ้างทั้งหมด 430 คน เป็นลูกจ้างที่ทำงานในส่วนการผลิตหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ จำนวน 22 คน แยกเป็นชาย 10 คน หญิง 12 คน โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางบริษัทได้แจ้งบอกเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานในส่วนของหนังสือโพสทูเดย์ ทั้งหมดจำนวน 22 คน ด้วยสาเหตุเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ให้มีผลการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ในส่วนของการชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง บริษัทจะจ่ายเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมาย พร้อมทั้งจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างทุกคนควรได้รับอีกด้วย

ทางด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยจะดูแลลูกจ้างทุกคนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ หากลูกจ้างต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 หมายเลขโทรศัพท์ 0 2328 8288 หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน