มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ ไร้ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานประกันสังคม

14 มิ.ย. 2565 | 07:24 น.

มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือลดเงินสมทบของกระทรวงแรงงานเหมือนเดิม หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยอมรับจะไม่ต่ออายุ เพราะเกรงจะกระทบกับสถานะกองทุนประกันสังคม

หลังจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมนัดหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจมาหารือในวันนี้ เพื่อพิจารณาต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 

 

ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการลดค่าครองชีพในส่วนของกระทรวงแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงานจะไม่ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพเดิม เกี่ยวกับการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ของนายจ้างและผู้ประกันตน เพราะจะกระทบต่อสถานะของกองทุนประกันสังคมได้

 

ทั้งนี้ตามมาตรการเดิมที่รัฐบาลได้ออกมาช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพรวมกว่า 10 มาตรการนั้น มีส่วนหนึ่งที่เป็นมาตรการเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน 3 มาตรการ แยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

 

นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 

  • ลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% 
  • งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. 2565
  • ครอบคลุมนายจ้าง 4.9 ล้านคน และผู้ประกันตน 11.2 ล้านคน

ผู้ประกันตนในมาตรา 39 

  • ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% 
  • งวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565
  • หรือจ่ายเงินสมทบลดลงจาก 432 บาทต่อเดือน เหลือ 91 บาทต่อเดือน 
  • ครอบคลุมจำนวน 1.9 ล้านคน

 

ผู้ประกันตนในมาตรา 40 

  • จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลง 40% คือ 
  • ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
  • ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท 
  • ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท 
  • หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน 
  • ครอบคลุมจำนวน 10.6 ล้านคน 

“การต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม จะไม่ได้ต่ออายุ เพราะจะกระทบต่อสถานะกองทุน โดยกระทรวงแรงงานจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ

 

มาตรการลดค่าครองชีพ กระทรวงแรงงาน มาตรา 33 และมาตรา 39

มาตรการลดค่าครองชีพ กระทรวงแรงงาน มาตรา 40