ทางออกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว “ชัชชาติ” เล็งถกสภากทม. ตั้งกมธ.แก้

17 มิ.ย. 2565 | 07:02 น.

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. เล็งตั้งกรรมาธิการถกแก้ปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้ตอนนี้รายละเอียดโครงการมีเพียบ ขอเวลาตามกำหนด 1 เดือน เร่งสรุปเสนอกระทรวงมหาดไทย ก่อนชงครม. พิจารณา

วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ขณะนี้เตรียมจะหารือกับสภากทม. เพื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการดังกล่าว เพราะโครงการนี้มีรายละเอียดมาก อาจตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาข้อมูลทั้งหมด เพื่อเร่งหาข้อสรุปให้ได้

 

“การพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้ต้องรีบทำ โดยกำหนดเอาไว้ว่าขั้นต้นภายในระยะเวลา 1 เดือนต้องมีความคืบหน้ามารายงานให้กับประชาชนรับทราบ ซึ่งขณะนี้ทางปลัดกระทรวงคมนาคม และปลัดกทม. ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมากำลังหารือเรื่องนี้อยู่ เพราะโครงการนี้มีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางด้านการเงินที่ต้องวิเคราะห์ก่อน” นายชัชชาติ ระบุ

 

ส่วนจะต้องมีการรื้อสัญญาสัมปทานฉบับเดิมเลยหรือไม่ นายชัชชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันโครงการนี้มีสัญญาหลายฉบับ เช่น สัญญาสัมปทานเดิม ที่จะสิ้นสุดในปี 2572 สัญญาจ้างเดินรถตั้งแต่ปี 2572-2585 และสัญญาใหม่ที่จะขยายไปถึงปี 2602 จึงจำเป็นต้องดูให้ครอบคลุมทั้งหมด ถ้าถามว่าควรต้องรื้อหรือไม่ ก็ต้องไปดูว่าหากจะรื้อควรจะรื้อไหม และต้องไปดูสัญญาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะเดินยังไงต่อด้วย 

อย่างไรก็ตามในข้อสรุปเรื่องสัมปทานนี้จะต้องรายงานเข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565 นี้หรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จะพยายามเร่งเข้ามาเสนอครม. แต่ก็ต้องไปหารือให้ได้ข้อสรุป เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก 

 

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลไม่รับข้อเสนอของกทม. ได้เตรียมแผนสำรองอย่างไร ยอมรับว่า เรื่องนี้คนชี้ขาดคือครม. ซึ่งเป้นกระบวนการสุดท้าย โดยกทม.มีหน้าที่เสนอความคิดเห็น และต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยก่อนเสนอไปยังครม. เชื่อว่าท้ายที่สุด ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งและทุกอย่างต้องอธิบายได้ 

ขณะเดียวกันนอกจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว กทม.ยังมีปัญหาเรื่องรถดับเพลิงอีกเรื่อง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.จะต้องแก้ไขอย่างไรนั้น ผู้ว่าญ กทม. ยืนยันว่า ก็ต้องค่อย ๆ สะสางไป และยังมีเรื่องท่อร้อยสาย โรงกำจัดขยะ ก็คงไล่แก้ปัญหากันไป ส่วนเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง ในกระบวนการของศาล กทม.ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอศาลมีคำสั่งก่อน