สรุปมาตรการลดค่าครองชีพ รอบใหม่ ลดราคาน้ำมันเท่าไหร่ มีอะไรช่วยเพิ่ม

16 มิ.ย. 2565 | 22:41 น.

สรุปมาตรการลดค่าครองชีพ รอบใหม่ และมาตรการในการช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง หลังจากนายกรัฐมนตรี เห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยต่อคิวเห็นชอบในครม. สัปดาห์หน้า มาตรการไหน ช่วยอะไร ลดราคาน้ำมันเท่าไหร่ ที่นี่มีคำตอบครบจบ

มาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการในการช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง ให้กับประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ได้รับการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งการต่อมาตรการเดิม เพิ่มเติมมาตรการใหม่  ซึ่งมาตรการทั้งหมด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอให้ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มาตรการต่าง ๆ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนมาตรการเดิมหมดอายุ โดยมาตรการทั้งหมดจะไม่ได้ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่จะใช้งบกลางฯ ไปดำเนินมาตรการต่าง ๆ แทน 

 

สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้น ได้มีการกำหนดระยะเวลาการทำโครงการเอาไว้ รวมระยะเวลา 3 เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2565 

รายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ แยกเป็นดังนี้

 

1.ต่ออายุมาตรการเดิม

  • การตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่ 
  • การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
  • การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก
  • การให้ส่วนลดค่า FT ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย (กำลังพิจารณา)

2.มาตรการใหม่

  • ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร 
  • ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 - 7,000 ล้านบาท แยกเป็น 
  1. กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท จะขอความร่วมมือให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน 
  2. กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท 
  • ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท
  • สนับสนุนการท่องเที่ยว เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองรองหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรองหักภาษีได้ 2 เท่า (ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565)

 

3.มาตรการที่ไม่ทำต่อ 

  • ลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40  

 

มาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการในการช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง