"สุพัฒนพงษ์" ดึงส่วนต่างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโปะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

13 มิ.ย. 2565 | 07:24 น.

รองนายกรัฐมนตรี "สุพัฒนพงษ์" เตรียมดันมาตรการทางด้านพลังงานเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ใส่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังคุยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุด เรียบร้อย รับคิดก่อนพรรคกล้าออกมาเปิดข้อมูล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาใช้มาตรการทางด้านพลังงานเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ก่อนนำไปใส่ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

“ตอนนี้ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุด ว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ทั้ง 2 หน่วยงานตอบกลับมาแล้ว โดยการจะทำเรื่องนี้ก็ต้องดูให้รอบคอบ เพราะมีเรื่องสัญญากับโรงกลั่นอยู่ และอาจต้องเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลคิดทำก่อนพรรคกล้าที่ออกมานำเสนอข้อมูล ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่ได้แตกต่างกัน"

 

ทั้งนี้ยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด และเห็นว่า ตามข้อมูลของพรรคกล้าที่ออกมาระบุถึงค่าการกลั่นน้ำมัน เพิ่มขึ้น 10 เท่า โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อลิตรนั้น

 

แท้จริงแล้วอยากให้เอาตัวเลขย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปีมาดูจะเห็นว่า เฉลี่ยค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 2-3 บาทกว่าเท่านั้น แต่การที่เอาอัตราสูงสุดและต่ำสุดมาเทียบก็ทำให้ค่าการกลั่นสูงถึง 8 บาทตามที่พรรคกล้าออกมาให้ข้อมูล

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพียงแต่ว่าพูดไม่เก่งเหมือนนักการเมือง โดยกรณีนี้ทางพรรคกล้าหยิบเอาราคาที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ มาเทียบกับราคาที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดตัวเลขส่วนต่างดังกล่าวขึ้น ซึ่งรัฐบาลเองไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยหากจะเทียบจะต้องเอาราคาเฉลี่ยมาเทียบน่าจะเหมาะสมกว่า

 

ขณะเดียวกันยังยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้วางใจกับเรื่องกำไรเกินควรจากค่าการกลั่น หรือที่จะเรียกกับว่าเป็นลาภลอย โดยกระทรวงพลังงานได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูอำนาจของแต่ละหน่วยงานว่าทำอย่างไรได้บ้าง 

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานก็มีอำนาจทำได้ในบางเรื่อง เช่นการดึงเงินกำไรส่วนเกินเอาไปเข้ากองทุนน้ำมันได้ แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจและถูกต้องตามข้อกฎหมาย จึงได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดก่อน และตอนนี้ก็ได้ข้อสรุปแล้ว