"ปตท.สผ." นำร่องโครงการ CCS ครั้งแรกในไทยหนุนลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

06 มิ.ย. 2565 | 03:16 น.

"ปตท.สผ." นำร่องโครงการ CCS ครั้งแรกในไทยหนุนลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 

 

โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญดังกล่าว คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลาย ๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น

 

ปตท.สผ. ได้เริ่มการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เมื่อปี 2564 ถือเป็นการริเริ่มพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทย โดยขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ซึ่งครอบคลุมด้านการตรวจสอบและประเมินความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของชั้นหินใต้ดินเบื้องต้น 

ด้านการออกแบบกระบวนการดักจับและกักเก็บ ด้านแผนการเจาะหลุมสำหรับกักเก็บ เป็นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study)  ปตท.สผ. คาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ในโครงการอาทิตย์ได้ในปี 2569 

 

“ปตท.สผ. เล็งเห็นว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมของการสำรวจและผลิต สามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาโครงการ CCS ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้แผนงานลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทบรรลุตามเป้าหมาย นอกจากการพัฒนาโครงการ CCS ในแหล่งก๊าซอาทิตย์ที่ ปตท.สผ. จะดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว ยังได้ร่วมกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์พัฒนาโครงการ CCS ที่ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาและพัฒนา CCS ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"

 

"ปตท.สผ." นำร่องโครงการ CCS ครั้งแรกในไทย

 

รวมทั้ง การศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS Hub Model ซึ่งเป็นความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย โดยการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างมีประสิทธิผล 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ CCS จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง   เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย ด้านปัจจัยส่งเสริมการลงทุน รวมถึง ด้านการสื่อสารและการให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและองค์กรหลาย ๆ ฝ่าย ในการผลักดันและส่งเสริม การนำเทคโนโลยี CCS มาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย

 

โครงการพัฒนา CCS เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในการก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังให้ความสนใจในโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน  รวมถึง การดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) 

 

นายมนตรี กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี 2608