ราคาน้ำมันวันนี้ไทยถูก-แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลช่วยอย่างไร เช็คเลย

04 มิ.ย. 2565 | 08:27 น.

ราคาน้ำมันวันนี้ไทยถูก-แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลช่วยอย่างไร เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ กระทรวงพลังงานออกโรงชี้แจงไขข้อเท็จจริง

ราคาน้ำมันวันนี้ไทยถูกหรือแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคำถามที่ประชาชนคนไทยพยายามค้นหา และต้องการคำตอบที่แท้จริง

 

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน  เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนจะพบว่า ราคาน้ำมันของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ จะมีเพียงมาเลเซียกับบรูไนที่สามารถขายน้ำมันได้ในราคาถูกเนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันได้เองในประเทศ

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ 29 พ.ค. 65) และจากกระแสข่าวที่มีการช่วยเหลือเฉพาะน้ำมันดีเซลนั้น เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนในภาคขนส่งที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าและบริการในภาพรวม

 

อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการช่วยเหลือกับกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านโครงการวินเซฟ ช่วยค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์เดือนละ 250 บาท เบื้องต้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน

และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป โดยในส่วนของปริมาณสำรองน้ำมันของประเทศในปัจจุบันมีประมาณ 60 วัน ซึ่งมีความมั่นคงในการรองรับสถานการณ์ต่างๆ

 

"จากที่สถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและผันผวนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด กระทรวงพลังงานได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารด้านราคาเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด"

 

ราคาน้ำมันวันนี้ไทยถูก-แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มีรถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเติมน้ำมันฝั่งไทย เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

และได้ประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งน้ำมันออกนอกประเทศ"  

รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นว่า ที่ใดสินค้าที่ราคาถูกกว่าก็เป็นธรรมชาติที่ผู้บริโภคจะไปจับจ่าย สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การนำรถข้ามแดนมาเติมน้ำมันไม่ผิดกฎหมายใดๆ (เท่าที่ทราบ) และเป็นเรื่องปกติที่ทำมาก่อนราคาน้ำมันขึ้นเสียอีก 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในวันนี้มีการอุดหนุนด้วยเงินรัฐบาลไทย ถ้าหากเพื่อนบ้านมาขนน้ำมัน กลับไปขายนั้นไม่เป็นการสมควร จึงต้องมีการกำกับดูแลไม่ให้มีการขนน้ำมันไปขายในต่างประเทศ และการที่ขนน้ำมันไปขายอาจจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายการนำเข้าของเพื่อนบ้านเอง  

 

สำหรับรถที่เข้ามาเติมน้ำมันอาจมีการจับจ่ายซื้อสินค้าอื่นๆด้วย เพราะราคาสินค้าบ้านเรายังต่ำกว่ามาก ก็ถือเป็นการกระตุ้นยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รถจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเติมน้ำมันก็ทำให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเราด้วย ที่สำคัญคือสถานีบริการของไทยอาจต้องจัดคิวและบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้กระทบหรือสร้างความไม่สะดวกให้กับลูกค้าที่เป็นคนไทย 

 

และเชื่อว่าปริมาณน้ำมันที่เข้ามาเติมคงไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน แต่อาจต้องระวัง เรื่องรถดัดแปลงที่เข้ามาขนน้ำมันเถื่อน ซึ่งต้องมีการกวดขันอย่างเข้มงวด

 

ราคาน้ำมันวันนี้ไทยถูก-แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาค่าการกลั่นน้ำมัน 

 

เนื่องจากว่าในยปัจจุบันประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นข้อกังขาในสังคมว่าโรงกลั่นฉวยโอกาสปรับค่าการกลั่นขึ้นไปอยู่ในระดับสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำราคาน้ำมันแพง ทั้งที่รัฐบาลได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง เพื่อช่วยลดโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมัน แบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

 

ล่าสุดคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและโครงสร้างค่าการกลั่น ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนั้น มีปัจจัยมาจากสาเหตุอะไร คาดว่าในเร็ววันนี้จะมีความชัดเจน และน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้
 


“ปัจจุบันธุรกิจน้ำมันเป็นการค้าแบบเสรี กระทรวงพลังงานไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่น แต่จะใช้วิธีมอนิเตอร์บนสมมติฐานหลักระหว่างส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหากพิจารณาเบื้องต้นยอมรับว่าค่าการกลั่นขณะนี้ที่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจจะสูงเกินไป แต่ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะเข้าใจว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาค่าการกลั่นมีการปรับตัวสูงขึ้นมากจากที่เคยอยู่เฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตรมาเป็นราว 5 บาทต่อลิตร"