"ปะการังเทียม" ทางออกรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม

02 มิ.ย. 2565 | 11:36 น.

แหล่งก๊าซเอราวัณของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้สิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน เมื่อ 23 เม.ย.2565 ข้อกฎหมายระบุว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่รัฐไม่รับโอนนำไปใช้ประโยชน์ต่อทั้งหมด

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการและหาแนวทางการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการนำขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่แพร่หลายในหลายพื้นที่ทั่วโลก

 

 

\"ปะการังเทียม\" ทางออกรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการนำขาแท่นปิโตรเลียม ไปจัดทำเป็นปะการังเทียม ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ จึงมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม รวมถึงทดลองวางขาแท่นจำลอง และหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดวางมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ก่อนดำเนิน “โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ตามที่ทางคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 

 

ทั้งนี้มีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกันดำเนินการ ในการเคลื่อนย้ายขาแท่นปิโตรเลียมมาวางในพื้นที่โครงการ รวมทั้งการศึกษา ติดตาม และตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ในทะเล และประโยชน์ที่ได้รับจากแหล่งปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ

 

โดยการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2563 และ ทช. ได้รับมอบปะการังเทียมจากเชฟรอน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

 

 

  • 1 ปีกับผลการศึกษาปะการังเทียม

ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาของการดำเนินงานดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการรายงานและภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจรู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป

 

"นอกจากนี้ อยากให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์และต้องไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด" นายวราวุธ กล่าว

 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียม ทช. ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม 2566 เป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และทีมนักวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ

 

  • พบระบบนิเวศเริ่มสมบูรณ์

ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า จากที่เริ่มวางปะการังเทียมจากขาแท่นฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - กันยายน 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและสำรวจเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบนิเวศใต้ทะเล สรุปผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก รวมถึงได้สำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง เพื่อวัดผลการดำเนินงานใน 5 มิติใหญ่ ๆ คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางทะเล ด้านการสำรวจปลาในพื้นที่โครงการฯ ด้านการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติด ด้านการเคลื่อนตัวของโครงสร้างปะการังเทียม และด้านการเข้าใช้ประโยชน์ของชุมชน

 

ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ จะดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ต่อไป ตามกรอบการดำเนินงาน 2 ปีหลังจากจัดวางปะการังเทียม ในช่วงเดือนกันยายน 2565 และคาดว่าจะทราบผลการสำรวจในช่วงต้นปี 2566

 

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการนำร่องดังกล่าว มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ขาแท่นฯ เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งจากการสำรวจหลังการจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น และมีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่นฯ ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ เชื่อมั่นว่า กองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต ต่อไป

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการนำขาแท่นไปจัดการบนฝั่ง พบว่าทั้งสองแนวทางมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกันที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อขาแท่น แต่หากพิจารณาในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสาธารณประโยชน์ การนำขาแท่นที่อยู่ในทะเลและทำหน้าที่เป็นประการังเทียมมาร่วม 30 ปี ไปจัดวางใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม น่าจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่า เพราะสามารถนำกลับมาใช้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับท้องทะเลอ่าวไทย สร้างเศรษฐกิจภาพรวมให้กับประเทศได้ในระยะยาว

 

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหลือของเชฟรอนฯ บริษัทได้รับการเห็นชอบจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนอีกจำนวน 32 แท่น รวมถึงท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา การกลับเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ หรือ G1/61 ซึ่งบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ดำเนินงานปัจจุบัน จะต้องได้รับความเห็นชอบตามกรอบของข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ขณะนี้ทางเชฟรอนฯ อยู่ในขั้นตอนของการส่งแผนงานการเตรียมการก่อนการรื้อถอนเป็นรายกิจกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี  และมีกิจกรรมจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเห็นชอบและได้เริ่มดำเนินกิจกรรมแล้วในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 นี้