ยาสมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 3 สมุนไพร

30 พ.ค. 2565 | 10:00 น.

ยาสมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 3 สมุนไพร พร้อมแนวทางการฝังเข็มทางเลือก เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565

ยาสมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่ กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 3 สมุนไพร พร้อมแนวทางการฝังเข็ม เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565

 

3 สมุนไพรที่ช่วยลดความอยากบุหรี่

  • กานพลู
  • หญ้าดอกขาว
  • มะนาว

 

นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเสนอแนวทางการฝังเข็มตามศาสตร์แพทย์แผนจีนช่วยลดความอยากบุหรี่ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี   เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก คำขวัญรณรงค์ในปีนี้คือ บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลกรมควบคุมโรคในปีที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนคนไทยที่สูบบุหรี่ประมาณ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4 กรมการแพทย์แผนไทยฯ เล็งเห็นความสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิด

  • โรคมะเร็งปอด
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมองหรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เพียงแต่ผู้สูบเท่านั่น ควันบุหรี่มือสองยังทำร้ายผู้ใกล้ชิดที่สูดดมควันอีกด้วย อีกทั้งก้นบุหรี่ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

 

 

วันงดสูบบุหรี่โลก 2565

วิธีใช้สมุนไพรลดความอยากบุหรี่ มีดังนี้

กานพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ดอกกานพลู 2 - 3 ดอก

  • อมไว้ในปากประมาณ 5 – 10 นาที สารสำคัญในดอกกานพลูจะทำให้เกิดอาการชาในปากเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อาการอยากสูบบุหรี่ลดลง อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลูยังช่วยทางเดินหายใจหอมสดชื่นและช่วยลดกลิ่นปากได้อีกด้วย

หญ้าดอกขาว (หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน)

  • มีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็น ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง วิธีใช้ นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5 - 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง ข้อควรระวังในการใช้ คือ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาวมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง อาจส่งผลให้โรคประจำตัว กำเริบได้ และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้

มะนาว

  • เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง และมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีใช้ง่ายๆ เพียงหั่นมะนาว ทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ รับประทานทุกครั้งเมื่อมีความอยากบุหรี่

 

การฝังเข็ม

  • ในทางการแพทย์แผนจีนก็มีวิธีการฝังเข็มเพื่อลดความอยากบุหรี่ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มช่วยทำให้ผู้ติดบุหรี่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร serotonin ในสมองส่วน hypothalamus ซึ่งเป็น สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้.                  

 

ที่มา: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก