ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ไฟเขียว สร้างโมโนเรลสายสีเทา 2.7 หมื่นล้าน

27 พ.ค. 2565 | 04:56 น.

กทม.เดินหน้าสรุปผลศึกษารถไฟฟ้าสายสีเทา เฟส 1 วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท เล็งชงผู้ว่าฯกทม.คนใหม่-มหาดไทย เคาะสร้างรถไฟฟ้า ลุยเปิดประมูลปี 66 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP เล็งตอกเสาเข็มปี 69 เปิดให้บริการปี 73 เปิดค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในฐานะประธานพิธีเปิดการสัมมนาสรุปผลการศึกษา (สัมมนาปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะที่ 1 ระยะทางรวม 16.3 กม.วงเงิน 27,884 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานก่อสร้างงานโยธา 14,524 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 5,277 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 3,300 ล้านบาท ค่าตอบแทนและชดเชยที่ดิน 2,052 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2,732 ล้านบาท ว่า กทม.ได้รับทราบปัญหาปัจจุบันปัญหาการเดินทางของประชาชนการเดินทางยาวนานในแต่ละวัน ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการเดินทางได้ เนื่องจากการจราจรติดขัดบนท้องถนนขาดความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีระบบขนส่งมวลชนระบบรางระบบหลักที่พัฒนาตามแผนแม่บทรองรับประชาชน แต่ยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ โดยเฉพาะระบบขนส่งระบบหลักที่ทำให้ระบบขนส่งรองไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้กทม.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบขนส่งระบบรองเพื่อส่งเสริมระบบขนส่งทางรางระบบหลัก

 

ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ไฟเขียว สร้างโมโนเรลสายสีเทา 2.7 หมื่นล้าน

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลโครงการฯ ที่ผ่านมาพบว่า ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมที่มีความหนาแน่นจึงส่งผลให้การจราจรบนถนนมีความติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน เบื้องต้นกทม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทบทวนการออกแบบรายละเอียดโครงการฯเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ปี 2562 เพื่อประกอบการเสนอการขออนุมัติโครงการฯ

 

 

แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากการสัมมนาแล้วเสร็จ กทม.จะดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนี้ภายในปี 2565 เพื่อนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาและให้ความเห็นชอบ จากนั้นนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีได้ภายในปี 2566 ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้จะเริ่มได้ภายในปี 2567 - 2568 จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลาประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2569-2572 สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2573

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา รวมระยะทาง 40 กม. แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. ระยะที่ 2 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.5 กม. และระยะที่ 3 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กม.จากการศึกษาโครงการฯพบว่ารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ คือรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางด้านการเงินสูงอยู่ที่ 12,286 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมลงทุนมีแรงจูงใจในการดึงผู้โดยสารมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังพบว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการฯ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 9,364 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนภายในทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 20.03% อัตราผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.69

ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ไฟเขียว สร้างโมโนเรลสายสีเทา 2.7 หมื่นล้าน

 

 “กรณีที่ผู้ว่ากทม.มีแผนจะโอนรถไฟฟ้าให้กับรฟม.เป็นผู้ดูแลนั้น มองว่าโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.ตามแผน M-Map โดยมีการจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการฯตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการฯที่มีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนโยบายผู้ว่ากทม.หากสนใจโครงการฯก็สามารถนำโครงการไปใช้ได้ทันที รวมทั้งการศึกษาของโครงการฯจะไม่กระทบต่อรายได้ หากมีการโอนให้รฟม.เพราะเรามีการศึกษาโดยอ้างอิงตามมาตรฐานผลการศึกษาเดียวกันกับรฟม.อยู่แล้ว”

 

 

นอกจากนี้แนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นจากบริเวณทางเชื่อมระหว่างถนนรามอินทรากับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก โดยวางโครงสร้างบนทางเท้าและทางจักรยานข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช ผ่านถนนประชาอุทิศ และข้ามทางพิเศษศรีรัชที่แยกพระราม 9- ประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวเกาะกลางของถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เข้าสู่ถนนทองหล่อ จนกระทั่งมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 55 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีทองหล่อ

ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ไฟเขียว สร้างโมโนเรลสายสีเทา 2.7 หมื่นล้าน

ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณสถานีวัชรพล พื้นที่ 17 ไร่ สามารถจอดขบวนรถได้ 16 ขบวน จำนวน 8 ราง ซึ่งมีการออกแบบสถานีรถไฟฟ้า แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชานชาลากลาง บนโครงสร้างโครงข้อแข็ง เป็นสถานีที่ชานชาลาอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยรางรถไฟทั้ง 2 ข้าง ใช้กับสถานีต้นทางและปลายทาง จำนวน 2 สถานี 2.ชานชาลาข้าง รองรับด้วยเสาเดี่ยว เป็นสถานีที่ชานชาลาแยกเป็น 2 ข้าง ตรงกลางเป็นรางรถไฟ 2 รางที่อยู่ติดกัน ใช้กับสถานีที่อยู่ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม จำนวน 10 สถานี 3.ชานชาลาข้าง บนโครงสร้างโครงข้อแข็ง เป็นสถานีที่ชานชาลาแยกเป็น 2 ข้าง แต่มีขนาดแคบกว่า 2 รูปแบบข้างต้น เพื่อให้สามารถตั้งบนถนนในซอยทองหล่อได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ จำนวน 3 สถานี 

 

ลุ้นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ไฟเขียว สร้างโมโนเรลสายสีเทา 2.7 หมื่นล้าน

 

สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ มีรูปแบบการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วเฉลี่ยในการเดินรถ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป – กลับ 62 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 8,000 - 20,000 คน/ชั่วโมง โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คน-เที่ยวต่อวัน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท คิดตามระยะทาง 2.50 บาทต่อกม.