ตะลึง! ปิดเรียนหนีโควิด 9 เดือน ทำเด็กทั่วโลกสูญรายได้ในชีวิต 560 ล้านล้าน

23 พ.ค. 2565 | 05:26 น.

ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็ก สศช.ยกข้อมูลธนาคารโลก ต้องตะลึง หลังพบการปิดเรียนหนีโควิดระบาดนาน 9 เดือน ทำเด็กทั่วโลกต้องสูญรายได้ในชีวิตไปมากถึง 560 ล้านล้านบาท รวมถึงสถิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ไปติดตามกัน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลง ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 โดยมีเรื่องสำคัญ คือ ภาวะการเรียนรู้ถดถอย โอกาสการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หนึ่งในนั้นมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning loss) ของเด็ก

 

ตามข้อมูลอ้างอิงจากธนาคารโลก ระบุว่าในช่วงปี 2563 ที่มีการปิดโรงเรียนยาวนาน 3 - 9 เดือน อาจทำให้เด็กคนหนึ่งสูญเสียความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชีวิตของเขาถึง 6,472 - 25,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณคนละ 217,000 – 864,000 บาท

 

ทั้งนี้หากรวมตัวเลขสูญเสียรวมทั่วโลก จะคิดเป็นเงินสูงถึงประมาณ 10-17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 560 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

 

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย โอกาสการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อภาวะการถดถอยทางการศึกษาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีข้อมูลที่เป็นตัวแทนระดับประเทศที่ชัดเจนเนื่องจากไม่มีระบบการวัดผล รวมถึงหลายประเทศได้มีการยกเลิกการสอบวัดผลในระดับต่าง ๆ อาทิ การเลื่อนวัดผล PISA การยกเลิกการสอบ O-NET 

 

สำหรับภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning loss) หมายถึง การสูญเสียความรู้หรือทักษะใด ๆ หรือ การชะลอตัวหรือขัดขวางความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขยายช่องว่างหรือความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาของนักเรียน การหยุดชะงักของการศึกษาในระบบ การออกกลางคันการขาดเรียน และการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการปิดเรียนเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เด็กสูญเสียการเรียนรู้อย่างรุนแรง องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO เผยหลักฐานชี้ชัดว่าถ้าปราศจากแผนช่วยฟื้นฟูที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง 

 

ในระยะยาวเด็กที่ผ่านประสบการณ์ปิดโรงเรียนเป็นเวลานานเพราะโรคระบาด จะมีแนวโน้มเรียนรู้ช้าลงกว่าช่วงก่อนโควิด-19และส่งผลกระทบต่อระดับการศึกษา หน้าที่การงานและคุณภาพชีวิตในอนาคต รวมถึงมูลค่าที่ประชากรคนหนึ่งสามารถสร้างให้แก่เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

 

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย โอกาสการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

สำหรับประเทศไทยนั้น งานศึกษาของคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่าเด็กชั้นอนุบาล 3 ในจังหวัดที่มีการระบาดของโควิด-19 และทำให้ต้องมีการปิดโรงเรียนในช่วงเดือนมกราคม เป็นระยะเวลานานถึง 1 เดือนเต็ม มีระดับคะแนนความพร้อมของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ต่ำกว่านักเรียนกลุ่มที่สามารถไปเรียนได้ตามปกติ

 

โดยคะแนนด้านภาษา ลดลง 0.39 ปี ด้านคณิตศาสตร์ ลดลง 0.32 ปี และด้านสติปัญญา ลดลง 0.38 ปี นอกจากนี้ ผลการสำรวจสถานการณ์การศึกษาจากครูและบุคลากรทางการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 1,030 คน ในเดือนเมษายน 2565 ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า 

 

ครูส่วนใหญ่พบปัญหาการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน โดยพบปัญหาระดับปานกลาง 39.3% ในระดับมากและมากที่สุด 31% โดยนักเรียน ประถมศึกษาเป็นช่วงชั้นที่มีปัญหาภาวะถดถอยมากที่สุด โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3 ที่สูงถึง 60.5% 

 

สำหรับสาเหตุของการเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า เกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์ รองลงมาคือการไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ การเรียนรู้ที่ถดถอยของนักเรียนส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาติดตามการเรียน สอนการบ้านให้ไม่ได้ และมีฐานะยากจน

 

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย โอกาสการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

 

จากปัญหาดังกล่าว ธนาคารโลก ได้แนะนำให้ทุกประเทศหามาตรการเพื่อจัดการปัญหา โดยให้ความสำคัญ ดังนี้

  • เด็กและเยาวชนทุกคนได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนและได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการเรียนรู้สุขภาพ สุขภาวะทางจิต และความต้องการอื่น ๆ 
  • นักเรียนทุกคนได้รับการฟื้นฟูการสูญเสียการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ครูทุกคนมีการเตรียมพร้อมและสนับสนุนการจัดการกับความสูญเสียในการเรียนรู้ของนักเรียน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน 

 

สำหรับประเทศไทย มีตัวอย่างเครื่องมือลดช่องว่างการเรียนรู้ที่โรงเรียนหลายแห่งได้นำไปปรับใช้และเห็นผลสำเร็จ คือ นวัตกรรม Learning Box หรือชุดกล่องการเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบขึ้น เพื่อช่วยสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลดข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต 

 

โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ รวมทั้งเสริมพลังครูให้สามารถปรับตัวและพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้ตามพื้นที่และบริบท เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถปิดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้ในที่สุด