ลุ้นคลังชงครม.ลดภาษีน้ำมันดีเซลเพิ่มสัปดาห์หน้า

11 พ.ค. 2565 | 12:58 น.

ลุ้นกระทรวงการคลัง ยอมเฉือนการจัดเก็บรายได้หมดหน้าตัก กัดฟันลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่ม ชงครม.สัปดาห์หน้า หลังนายกรัฐมนตรีไฟเขียวเรียบร้อย บรรเทาผลกระทบให้กับประชนเจอน้ำมันแพง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ก่อนเดินทางไปสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงการต่ออายุการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคม นี้

 

ทั้งนี้ในการหารืออย่างเคร่งเครียดในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กระทรวงการคลัง จะยอมเฉือนรายได้ด้วยการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า พิจารณาเห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากเดิม 3 บาทต่อลิตร 

 

ส่วนระยะเวลาการปรับลดลงนั้น จะขอดูความเหมาะสม ทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันและการสูญเสียรายได้อีกครั้ง ก่อนสรุปเสนอครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันแพง

 

“จากการหารือกระทรวงการคลังได้เสนอโมเดลให้ดูว่าเป็นยังไง หากจะต่อเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีกซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียรายได้ตกเดือนละเกือบหมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ก่อนที่รัฐบาลจะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประเภทต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้

  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษี 6.440 บาท 
  • น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน ไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก มีอัตราภาษี 6.440 บาท 
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 มีอัตราภาษี 6.440 บาท  
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 มีอัตราภาษี 5.990 บาท
  • น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 มีอัตราภาษี 5.930 บาท 

สำหรับการการปรับลดภาษีลงในครั้งก่อนหน้านี้ลง 3 บาทต่อลิตร ประเมินว่า จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประมาณ 17,100 ล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าว ยอมรับว่า การตัดสินใจปรับลดภาษีเพิ่มจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยเดือนละเกือบหมื่นล้านบาท