“บาทอ่อน”โด๊ปเศรษฐกิจ ส่งออก-ท่องเที่ยวเฮ ลุ้นเงินเข้าประเทศเพิ่ม 2 แสนล.

06 พ.ค. 2565 | 09:00 น.

บาทอ่อนรอบ 5 ปี สินค้าเกษตรได้เฮ “ข้าว-ยาง-มัน-ไก่-ผลไม้” ลุ้นทำรายได้-กำไรส่งออกเพิ่ม ท่องเที่ยวได้อานิสงส์ ม.หอการค้าฯ ชี้หากเฉลี่ยทั้งปี 34.50 บาท ดูดเงินเข้าประเทศได้อีกเกือบ 2 แสนล้าน สวนทางนำเข้าแบกภาระเพิ่ม สรท.จี้ทำประกันความเสี่ยงเพิ่ม "กรุงไทย"เตือนระวัง

 

 เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปีทะลุ 34.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (3 พ.ค. 65) ปัจจัยจากทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) บวกความกังวลเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากโควิด-19 ที่กลับมาระบาดในรอบใหม่ ทำให้เงินไหลกลับไปหาดอลลาร์ที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ล่าสุด (5 พ.ค.65) ค่าเงินบาทเฉลี่ย 34.04 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการทำรายได้เข้าประเทศจะมีรายได้และกำไรรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น สวนทางกับภาคการนำเข้าที่ต้องควักจ่ายเพิ่มตามเงินบาทที่อ่อนค่า

 

“บาทอ่อน”โด๊ปเศรษฐกิจ ส่งออก-ท่องเที่ยวเฮ  ลุ้นเงินเข้าประเทศเพิ่ม 2 แสนล.

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยน หากปีนี้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 64 เฉลี่ย 32 บาทต่อดอลลาร์) จะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกไปตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น 2.3% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2565 เท่ากับ 193,632 ล้านบาท (เป็นการพิจารณาเฉพาะจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศอื่น ๆ และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ)

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

  • เปิดโผสินค้าได้อานิสงส์

สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากสุดจากเงินบาทอ่อนค่า (จากมีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วยสูง) รองลงมาคือกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม (ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก)

 

โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์มาก (เรียงจากมากไปหาน้อย) 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าเกษตรกรรมที่ได้รับประโยชน์ (เรียงจากมากไปหาน้อย) 5 อันดับแรกได้แก่ ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าว, ไก่แปรรูป และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

 

 

  • กระทบนำเข้าวูบ 1.3 แสนล้าน

 ขณะเดียวกันกรณีค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะส่งผลให้ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลงประมาณ 1.6% ของมูลค่าการนำเข้ารวม หรือมูลค่าการนำเข้าลดลง 139,205 ล้านบาท

 

โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ สินค้าทุน (เช่น เครื่องจักรกล, เครื่องจักรไฟฟ้า, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์) สินค้าอุปโภคบริโภค (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง, เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน) ยานพาหนะและอุปกรณ์ เชื้อเพลิง (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (เช่น เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก สินแร่)

 

“หากพิจารณาเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ จีน และอาเซียน ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเหล่านี้ แต่จะส่งออกได้ลดลงในตลาดยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น เพราะเทียบกับสกุลเงินของประเทศเหล่านี้เงินบาทแข็งค่าขึ้น”

 

  • ปัจจัยเสี่ยงส่งออกยังอื้อ

อย่างไรก็ดีทางศูนย์ฯยังคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 275,075 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวได้ที่ 4.8% ปัจจัยบวกได้แก่ เงินบาทที่อ่อนค่า ซัพพลายช็อก จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินค้าโลกขาดแคลนทั้งกลุ่มอาหารคน อาหารสัตว์ กลุ่มพืชพลังงาน สินค้าเกษตรไทยบางตัวจะได้รับประโยชน์

 

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ นโยบาย Zero Covid ของจีน และมีการล็อกดาวน์ในหลายเมือง สถาบันการเงินโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจีนลงไปเฉลี่ย 0.3% นอกจากนี้จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลง, เงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าในแต่ละประเทศสูงขึ้น กำลังซื้อจะลดลง

 

“บาทอ่อน”โด๊ปเศรษฐกิจ ส่งออก-ท่องเที่ยวเฮ  ลุ้นเงินเข้าประเทศเพิ่ม 2 แสนล.

 

  • เกษตร-อาหาร-ท่องเที่ยวเฮ

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในเวลานี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะทางด้านราคา จากคู่แข่งบางประเทศค่าเงินอ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินบาท ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินและช่วยเหลือภาคเกษตรได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกลง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

 

ในทางกลับกันเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้ผู้นำเข้ามีภาระด้านมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ในปริมาณนำเข้าเท่าเดิม และอาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น จะกระทบต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและกระทบผู้บริโภค

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“เงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปยังประเทศที่เป็นตลาดหลัก ยกเว้นประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย เช่น ญี่ปุ่น อียู เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าค่าบาทไทย อาจทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบในเรื่องของส่วนต่างราคาได้”

 

สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งดำเนินการในช่วงนี้ ได้แก่ เร่งส่งออกสินค้าในช่วงค่าเงินบาทอ่อนระยะสั้น ทำให้สามารถลดสัดส่วนการซื้อหรือทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน (Forward / Option) ลงได้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการความเสี่ยงและจับตาค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีความผันผวน ขณะที่ผู้นำเข้าต้องพิจารณาเรื่องการบริหารความเสี่ยงโดยการซื้อ Forward และกลุ่มผู้นำเข้าควรเพิ่มสัดส่วน Hedge (การป้องกันความเสี่ยง)ให้มากขึ้น

 

  • "ข้าว"จ่อปรับเป้าส่งออกเพิ่ม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการแข่งขันด้านราคาข้าวกับคู่แข่งขันทั้งอินเดีย เวียดนามในเดือนที่เหลือของปีนี้ จากช่วงไตรมาสแรกไทยส่งออกข้าวแล้ว 1.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

หากเดือนที่เหลือของปีนี้สามารถส่งออกได้เฉลี่ย 7 แสนตันต่อเดือน เป้าหมายส่งออกข้าวทั้งปีที่ 7 ล้านตันจะทะลุเป้าหมาย ซึ่งทางสมาคมฯจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวอีกครั้งช่วงกลางปี โดยอาจจะปรับขึ้นไปเป็น 7.5-8 ล้านตัน แซงเวียดนามกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย

 

“บาทอ่อน”โด๊ปเศรษฐกิจ ส่งออก-ท่องเที่ยวเฮ  ลุ้นเงินเข้าประเทศเพิ่ม 2 แสนล.

 

  • เก็งกำไรไม่ปิดเสี่ยงระวังเจ็บ

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เผยว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มมีการชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนของราคาสินค้า ต้นทุนสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหรือคู่ค้าของไทยไม่รีบสั่งซื้อสินค้า สะท้อนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับลดอยู่ที่ 48.2 จากเดือน มี.ค.อยู่ที่ 50.7 ซึ่งคำสั่งซื้อและความเชื่อมั่นการผลิตก็ลดลงเช่นกัน

 

ดังนั้น เมื่อมีความไม่แน่นอนสูงผู้ประกอบการไม่ควรเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนควรป้องกันความเสี่ยง อย่าเก็งกำไร ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเปิดพอร์ต แนะนำทำ Forward เกิน 50% ที่เหลือ 30-40% ทำออฟชั่นหรือทำสปอร์ตอยากให้ปิดความเสี่ยงอย่าเก็งกำไรค่าเงิน

 

“ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ภาคธุรกิจควรปิดความเสี่ยงให้เหมาะสมกับต้นทุน เพราะเงินบาทระยะสั้นมีโอกาสอ่อนค่า และจับตาปัจจัยเศรษฐกิจจีนส่วนตัวมองสถานการณ์ในจีนน่าจะดีขึ้น ไตรมาส 3 ค่าเงินบาทควรจะแข็งค่าสวนทางดอลลาร์ค่อย ๆ อ่อนค่าลง แต่ต้องดูราคาพลังงานจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่ไตรมาส 3 จะเห็นเงินบาท เคลื่อนไหว 33.50 บาทต่อดอลลาร์และปลายปี 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม 2565