รัฐอัดโปรเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เอกชนลงทุนปีนี้ฟรีค่าเช่า 2 ปี

05 พ.ค. 2565 | 07:54 น.

รัฐบาลดันโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกเฮือก อัดโปรโมชั่นเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่ หากเอกชนรายไหนลงทุนภายในปี 2565 ได้รับการยกเว้นค่าเช่าฟรีไปเลยเป็นเวลา 2 ปี แต่ถ้าลงทนปีหน้าได้ยกเว้นค่าเช่าแค่ปีเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากหนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี 

 

จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาภายในปี 2563 เป็นให้สิ้นสุดภายในปี 2566 เพื่อเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยหากเอกชนลงทุนภายในปี 2565 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี และหากเอกชนลงทุนภายในปี 2566 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 1 ปี 

 

ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และมุกดาหารตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้

อีกทั้งยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR – Map) จำนวน 10 เส้นทาง มีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร

 

เพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและโครงการถนนสาย ทล. 2 – สถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และรองรับขนส่งสินค้าทางรถไฟ

 

สำหรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีด้วยกัน 10 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนแล้วประมาณ 36,882 ล้านบาท โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563 –ปัจจุบัน) ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกิจการถุงมือยางและการผลิตไฟฟ้าจากขยะ 

ขณะที่ภาครัฐได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่า 89% โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570 โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2

 

ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ 2 อาคารท่าอากาศยานแม่สอด (เขตฯ ตาก) ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (เขตฯ สงขลา) ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ (เขตฯ เชียงราย) นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (เขตฯ สระแก้ว) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (เขตฯ สงขลา) เป็นต้น

 

ส่วนกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการตามมติ กพศ. เช่น การก่อสร้าง ทล.3646 อ.อรัญประเทศ – ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ.หนองเอี่ยน - สตึงบท) ช่วงแยก ทล.33 บรรจบ ทล.3586 ให้เป็นขนาด 4 ช่องจราจร การก่อสร้างถนนแยก ทล.4 - ด่านสะเดา แห่งที่ 2 การพัฒนาถนนเข้าพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและมุกดาหาร

 

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ดังนี้

  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor : CWEC จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช