ปศุสัตว์ ดัน โครงการ “ Lanna Sand Box “ ป้องโรค ASF

03 พ.ค. 2565 | 05:37 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผนึกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือดัน โครงการ Lanna Sand Box ป้องโรค ASF “นบขพ.” เว้น มาตรการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน คาดว่าจะชดเชยวัตถุดิบส่วนขาดสะดวก คล่องตัวขึ้น ยันหมูไม่ขาดแคลน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์คุมสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในวงจำกัด สำรวจจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและจำนวนสุกร เร่งช่วยเหลือเกษตรกรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและแก้ปัญหาราคาหมูในระยะยาว นั้น

 

​กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์โรค ASF ได้ในวงพื้นที่จำกัด และจากการสำรวจข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและข้อมูลประชากรสุกรในช่วงเมษายน 2565 ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 109,942 ราย มีสุกรทั้งหมด 10,296,405 ตัว เป็นสุกรแม่พันธุ์คงเหลือในระบบการผลิตจำนวน 1,055,499 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ ราชบุรี ลพบุรี ชัยนาท บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี ตามลำดับ และสุกรขุนจำนวน 9,005,141 ตัว จังหวัดที่มีจำนวนสุกรมากที่สุด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และพัทลุง ตามลำดับ

 

ปศุสัตว์ ดัน โครงการ “ Lanna Sand Box “ ป้องโรค ASF

“จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจำนวนแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร สำหรับจำนวนสุกรขุนลดลง เนื่องจากหลายปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงทั้งค่าพันธุ์ ค่าอาหารสัตว์ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงสุกร โดยเมื่อนำมาคิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการตลาดเพื่อการบริโภคในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว”

สำหรับประเด็นแนวทางลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ ล่าสุดวันนี้ (2 พ.ค.65) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีข้อสรุปเพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ โดยให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิมกำหนดไว้ใน 3 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน

 

ปศุสัตว์ ดัน โครงการ “ Lanna Sand Box “ ป้องโรค ASF

 

เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน และจะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ส่วนการนำเข้าช่องทางอื่นๆ ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศ โดยสามารถนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมดข้างต้น มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อความเหมาะสม

 

​อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ให้ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานและพัฒนาการเลี้ยงสุกรให้มีระบบปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุมโรคและลดผลกระทบความเสียหาย และได้ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือทำโครงการ Lanna Sand Box เป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นำร่องในระบบบริหารจัดการการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรค ASF ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตสุกรให้เพียงพอต่อการบริโภคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

 

 

ภายใต้ระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกรและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรสามารถนำสุกรกลับมาเลี้ยงใหม่ได้อย่างยั่งยืน และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย-รายเล็กอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้หากต้องการข่าวสารเพิ่มเติม หรือ พบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง