เดินหน้าต่อ “เส้นทางกัญชา” เพื่อคนไทย

28 เม.ย. 2565 | 20:15 น.

“ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ปลดล็อกกัญชา-กัญชง เปิดโอกาสนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเปิดงานสัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร(ลับ)ฉบับ รวยด้วย...กัญชา” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายปลดล็อก CANNABIS หรือกัญชา-กัญชง มาเป็นเรื่องของการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

 

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เปิดโอกาสให้มีการนำกัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการศึกษาวิจัย โดยกำหนดให้มีกลไกการควบคุมที่เหมาะสม มิให้มีการรั่วไหลนำไปใช้นอกวัตถุประสงค์ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ

ส่วนก้าวต่อไปนี้มั่นใจว่า กัญชา-กัญชง จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์สารพัด ในระยะ 1 ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างกฎหมายกัญชา เพื่อเป็นการปลดล็อคเพิ่มเติม ให้มากกว่าการใช้เฉพาะทางการแพทย์ โดยเวลานี้บรรจุเข้ารัฐสภาแล้ว และจะมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญ ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 นี้ เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้

 

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณ ได้มีการอนุญาตกัญชาทางการแพทย์ ที่ได้มีการอนุมัติตำรับกัญชาแผนไทย/แผนปัจจุบันกว่า 50 ตำรับ โดยจะต้องผ่านกระบวนการทางกรมการแพทย์แผนไทย มีการผลิตกระจายไปยังโรงพยาบาลรัฐบาลทั่วประเทศกว่า 1.3 ล้านขวด/ซอง ใช้กับผู้ป่วยกว่า 1.02 แสนราย

สัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร(ลับ)ฉบับ รวยด้วย...กัญชา”

นอกจากนี้จะมีคลินิกกัญชาอยู่ในโรงพยาบาล เพียงแต่ว่าวิธีคัดกรองผู้ป่วยที่จะใช้กัญชา ภายใต้วินิจฉัยของแพทย์ ต่อไปเชื่อมั่นว่าแพทย์แผนไทย จะช่วยลดรายจ่ายของคนไทยได้ในอนาคต ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ บรรเทาปวดในผู้ป่วยมะเร็ง

 

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการอนุญาตผลิต (ปลูก) ออกเอกสารซื้อขายกัญชา ในส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด จำนวน 2,342 ราย จากระบบ อย.ทั้งสิ้น 5,092 ฉบับ ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชา-กัญชง เป็นไปตามกฎหมาย เช่น วิสาหกิจชุมชนมาขออนุญาต แล้วให้ อย.กับกรมการแพทย์แผนไทยดูความเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมกัญชา เกิดการซื้อขายใบกัญชาปริมาณกว่า 9.5 ตัน โดยร้อยละ 65 ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่เหลือไปทำยาสมุนไพร และเครื่องสำอาง ตามลำดับ

 

“นี่คือความคืบหน้า ใน 1 ปีที่ผ่านมา ที่กิจกรรมกัญชากระจายตัวไปทุกเซกเตอร์ ที่ดีสุดก็คือ เครื่องสำอาง” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข ย้ำความเชื่อมั่น โดยเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของกัญชง กัญชา และสารสกัด CBD จากกัญชาและกัญชง มีจำนวน 754 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำความสะอาด ขัดผิว เป็นต้น

สัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร(ลับ)ฉบับ รวยด้วย...กัญชา”

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปของชาชง ที่ได้รับอนุญาตกว่า 11 รายการ อาหารที่มีส่วนผสมประกอบของกัญชงกัญชา อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟปรุงสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภค วุ้นสำเร็จรูป ขนมเยลลี่ และ อื่นๆ ปัจจุบันอนุญาตไปกว่า 80 รายการ และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซอสพริก หมากฝรั่ง ลูกอม น้ำปลาร้าปรุงรส เป็นต้น ในอนาคตจะยิ่งมีหลากหลาย

 

“เราปลดล็อกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ประเด็นสำคัญคือ การลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ถ้าร่างกฎหมายผ่านสามารถที่จะไปปลูกกัญชาโดยไปจดแจ้งได้ แล้วจะสามารถนำกัญชาที่ปลูกได้เอง ไปผลิตยารักษาตัว ทดแทนยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ นี่เป็นการลดรายจ่ายที่มหาศาลในภาพรวมของประเทศ”

 

อีกทั้งสามารถนำต้นกัญชาที่ปลูก ไปขายให้กับกรมแพทย์แผนไทยใช้ปรุงยา หรือจะมีสูตรง่ายๆที่จะให้กับชาวบ้านทำได้ เป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชน จากการปลูก การผลิต และการขายผลิตภัณฑ์ และลดรายจ่ายในพื้นที่ทุรกันดาร แล้วเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อรอรับโอกาสในอนาคตที่จะเปิดกว้างมากขึ้น

 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว จะเดินหน้าต่อไป รวมทั้งในเรื่องการส่งเสริมให้มีการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมทั้งพืช และผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และคุ้มครองประชาชน ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชากัญชง และป้องกันการใช้กัญชากัญชงในทางที่ผิด