ระเบียบจ่ายเงินชดเชยที่ดินส.ป.ก. 1.4 หมื่นไร่สร้างศูนย์ธุรกิจ EEC มีผลแล้ว

26 เม.ย. 2565 | 05:31 น.

ระเบียบจ่ายเงินชดเชยที่ดินส.ป.ก. ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเป้าดึงที่ดิน 1.4 หมื่นไร่ สร้างศูนย์ธุรกิจ EEC มูลค่าเงินลงทุน 1.34 ล้านล้านบาท 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2565 เพื่อดำนินการหรือประกอบกิจการอื่นใดนอกเหนือจากที่กกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ  วงเงินลงทุนรวม 1.34 ล้านล้านบาท 

 

ระเบียบการนำที่ดินส.ป.ก.มาใช้ประโยชขน์ในพื้นที่ EEC ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2565 

การนำที่ดินส.ป.ก. ในพื้นที่ EEC มาใช้ประโยชน์

  • คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้สำนักงานเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่สำานักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน จากนั้นให้สำนักงานแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าชดเชยขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อกำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยต่อไป โดยสกพอ.สจะต้องสำรวจรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งอยู่ในที่ดินประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และกำหนดค่าชดเชยเบื้องต้น เสนอต่อคณะกรรมการกำหนดค่าชดเชย เพื่อพิจารณา

ภาพประกอบโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

หลักเกณฑ์ เงื่อนไข การประเมินค่าชดเชยที่ดินส.ป.ก. 

  1. การเสียสิทธิในการใช้ที่ดินที่บุคคลได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งค่าเสียโอกาสจากการใช้ที่ดิน ซึ่งต้องคำนึงสภาพที่ตั้งและทำเลของที่ดินที่แตกต่างกันประกอบด้วย
  2. สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดิน รวมทั้งต้นไม้ยืนต้น
  3. พืชล้มลุกที่ผู้ครอบครองที่ดินไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้หรือยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว
  4. ค่าขนย้ายและค่าชดเชยวัสดุอุปกรณ์ที่จะเสียหายจากการรื้อย้าย
  5. ค่าปลูกสร้างโรงเรือนใหม่

วิธีจ่ายเงินค่าชดเลยที่ดินส.ป.ก.ในพื้นที่ EEC

  • เงินค่าชดเชยให้จ่ายให้แก่บุคคลซึ่งปรากฏชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในวันที่ดำเนินการสำรวจ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งระหว่างกันให้จ่ายตามที่ทุกฝ่ายที่โต้แย้งกันนั้นตกลงกัน
  • เมื่อคณะกรรมการกำหนดเงินค่าชดเชยแล้ว ให้แจ้งให้ผู้มีสิทธิรับเงินชดเชยทราบและกำหนดวันจ่ายเงินให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน 
  • ในการจ่ายเงิน ให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิเมื่อผู้มีสิทธิได้ทำหนังสือส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่สำนักงานแล้วหนังสือส่งมอบการครอบครองที่ดินให้เป็นไปตามแบบที่สกพอ.กำหนด

อ่านรายละเอียด ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2565 คลิก

 

สำหรับศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ  เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่  ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี  เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EECและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ   

ภาพประกอบโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่อีอีซี และให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580  เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศไทย 

โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ มีที่ตั้ง ที่อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ โดยจะพัฒนาระยะแรกประมาณ 5,000 ไร่  ตั้งห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กม.  มีระยะการพัฒนา 10 ปี  ระหว่างปี 2565-2575 

สกพอ.ประเมินว่าโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC จะสร้างงาน 2 แสนตำแหน่ง  ใช้เงินลงทุนประมาณ1.34 ล้านล้านบาท  แบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐ 2.8% หรือ 37,674 ล้านบาท เป็นส่วนของค่าที่ดิน ปรับพื้นที่เมืองโครงสร้างพื้นฐานในเมือง นอกเมือง ส่วนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) 9.7% หรือประมาณ 131,119 ล้านบาท เป็นค่าสาธารณูปโภคในระบบขนส่งธารณะ ระบบดิจิทัล และเอกชนลงทุน 87.5% หรือประมาณ 1,180,808 ล้านบาท สำหรับพื้นที่พาณิชย์ง

ภาพประกอบโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

โซนตามธุรกิจเป้าหมายโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

  1. ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน สนับสนุนการลงทุน Fintech และGreen Bond
  2. สำนักงานภูมิภาค RHQ/ศูนย์ราชการ  เช่น สำนักงานภูมิภาคของธุรกิจไทย ที่มีธุรกิจในอีอีซีและสถานที่ราชการที่สำคัญ
  3. การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่อนาคต เพื่อเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย
  4. การศึกษา วิจัย และพัฒนา  เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน  
  5. ธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น พลังงานสะอาด ธุรกิจ Digitizationและ5G กลุ่มโลจิสติกส์และวิทยาศาสตร์การกีฬา   เป็นต้น