ทูตเวียดนามจีบ“ซีพี”ลุยอุตฯไฮเทค-ดิจิทัล ““ธนินท์”รับปากลงทุนต่อเนื่อง

24 เม.ย. 2565 | 05:37 น.

ทูตเวียดนามร่วมหารือผู้บริหารเครือซีพี แนะลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลรองรับอนาคต “ธนินท์” รับปากพร้อมขยายการลงทุนต่อเนื่อง มองเป็นตลาดมีโอกาสเติบโตสูง ปัจจุบันจ้างงานชาวเวียดนามแล้วกว่า 3 หมื่นคน

 

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) เผยว่า นายฟาน จี๊ ถั่น (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย และคณะ ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการอาวุโส เครือซีพี เพื่อหารือถึงแนวทางและมาตรการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระหว่างเวียดนามและไทย 

 

โดยมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือซีพี-ซีพีเอฟ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ และนายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ ซีพี เวียดนาม เข้าร่วมด้วย ณ อาคารซีพีทาวเวอร์ สีลม กรุงเทพ

 

 

ทั้งนี้ นายฟาน จี๊ ถั่น เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย เผยว่า การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้ง เครือซีพี มีบทบาทสำคัญสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม พร้อมให้คำแนะนำว่าในอนาคตเวียดนามจะมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

 

ทูตเวียดนามจีบ“ซีพี”ลุยอุตฯไฮเทค-ดิจิทัล ““ธนินท์”รับปากลงทุนต่อเนื่อง

 

นายธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวชื่นชมว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดอีกตลาดหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจมาก ซีพีให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในเวียดนามมาโดยตลอด และยืนยันที่จะหาโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ซีพีได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ภายใต้ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารแบบครบวงจร มีพนักงานมากกว่า 30,000 คน นับเป็นองค์กรดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และมีส่วนช่วยสนับสนุนการจ้างงานและพัฒนาอาชีพเกษตรกรของประเทศ

 

ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ซี.พี.เวียดนาม ได้เปิดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่เพื่อการส่งออกในจังหวัดบินห์ฟวก โดยมีกำลังการผลิต 50 ล้านตัวต่อปีในระยะแรก และมีแผนจะขยายกำลังผลิตเป็น 100 ล้านตัวต่อปีในระยะที่ 2   นับเป็นโครงการเลี้ยงไก่แปรรูปแบบครบวงจรเพื่อการส่งออกแห่งแรกของเวียดนาม และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ช่วยยกระดับการผลิตอาหารของประเทศเวียดนาม ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับระดับสากล