รัฐบาลลุยแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำขับเคลื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

13 เม.ย. 2565 | 08:21 น.

"วราวุธ" รมว.ทส.ย้ำ รัฐบาลมุ่งมั่นลุยแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำขับเคลื่อนในอนุภูมิภาคแม่โขง แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียน ให้ประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขงยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเร่งด่วน

 

วันที่ 13 เมษายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เปิดเผยว่าปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นในช่วงนี้

 

ส่วนหนึ่งมาจากหมอกควันข้ามแดน  ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการภายใต้รัฐมนตรีประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

 

ได้แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียน ให้ประเทศในอนุภูมิภาคแม่โขงยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเร่งด่วน        

 

 

รัฐบาลลุยแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำขับเคลื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ได้กราบเรียนปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา พร้อมขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอีกทางหนึ่ง โดยหวังว่าการยกระดับความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

 

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงปี 2565 นี้ ดีขึ้นกว่าปี 2564  โดยจำนวนจุดความร้อนสะสมตั้งแต่มกราคมจนถึงปัจจุบันลดลงถึงร้อยละ 38  โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนพยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียน

 

ลดจำนวนจุดความร้อนในภูมิภาคในปี 2565 ลงจากปี 2564 อย่างน้อยร้อยละ 20  พร้อมทั้งขยาย Haze Free ASEAN Roadmap สำหรับภูมิภาคอาเซียน และแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 สำหรับอนุภูมิภาคแม่โขง โดยแผนปฎิบัติการเชียงรายได้ถูกขยายไปอีก 5 ปี

 

ทั้งนี้ประเทศไทยมุ่งหวังให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนมีผลในทางปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น และพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

รัฐบาลลุยแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำขับเคลื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ทั้งนี้ ศูนย์แก้ไข ปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์ว่าสถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

หลังวันที่ 14 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2565 เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่เอื้อต่อการระบายอากาศ อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการควบคุมจำนวนจุดความร้อนควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ติดชายแดน

รัฐบาลลุยแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน นำขับเคลื่อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง