ยังไม่เก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หวั่นเอกชนเข้าใจผิดต้นเหตุนักท่องเที่ยวหาย

10 เม.ย. 2565 | 09:50 น.

รัฐบาลยืนยัน ยังไม่เก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หลังเจอผู้ประกอบการร้องนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียหาย เชื่อเกิดจากเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ ชี้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรการเปิดประเทศ ทั้งค่าตรวจหาเชื้อ ห้องพัก และค่าประกันภัย

จากกรณีผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา แจ้งว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ซบเซา เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางผ่านด่านพรมแดนสะเดาเข้ามาใช้จ่ายและท่องเที่ยวเหมือนทุกปี เหตุผลหนึ่งอาจเป็นนักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คนละประมาณ 5,000 – 7,000 บาทนั้น

 

ล่าสุดนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีดังกล่าวอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือค่าธรรมเนียมการจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย คนละ 300 บาท เพราะที่ผ่านมาได้เลื่อนการจัดเก็บออกไปแล้ว

 

สำหรับกรณีของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่มีตกคนละประมาณ 5,000 บาทนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ในประเทศไทยจำนวน 1 ครั้ง และมีค่าใช้จ่ายห้องพักสำหรับการรอผลตรวจ 1 คืน

 

รวมทั้งการทำประกันภัยในวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดอยู่ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ

มาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ตามมติศบค. วันที่ 23 ก.พ.2565

 

“ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายปกติสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลก็เตรียมผ่อนปรนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในกรณีของนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาน้อยอาจจะเป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่การเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินตามที่เข้าใจกัน และเมื่อรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนมากขึ้น เชื่อว่า นักท่องเที่ยวจะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นแน่นอน” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ได้เลื่อนจากกำหนดเดิมเริ่มต้นจัดเก็บในเดือนเม.ย.2565 ออกไปอีก 2 เดือน หรือเริ่มในเดือนมิ.ย.2565 ซึ่งจะเริ่มต้นเก็บจากการเดินทางจากทางอากาศก่อนเป็นอันดับแรก

 

ส่วนการจัดเก็บผู้เดินทางเข้าทางบกและทางน้ำ ยังอยู่ระหว่างหารือวิธีดำเนินการ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ. นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อนำเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและดูแลสวัสดิการนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป

สำหรับการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คนละ 300 บาท แบ่งเป็น วงเงิน 50 บาทไปจัดซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว กรณีเกิดอุบัติเหตุ จะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับชดเชย 1 ล้านบาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข 

 

ส่วนค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บอีก 250 ล้านบาท จะนำเข้ามาเก็บไว้ในกองทุนนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่าจะนำเงินไปใช้อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะนำไปส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขันและสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น สร้างห้องน้ำระดับมาตรฐานบริเวณแหล่งท่องเที่ยว