คลื่นเเทรก “ทรูxดีเเทค” AIS-NT โดดขวาง บี้ กสทช.ฟันอำนาจเหนือตลาด

07 เม.ย. 2565 | 00:20 น.
อัพเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2565 | 07:23 น.

ดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”ผ่านฉลุย ผู้ถือหุ้นไฟเขียว ตั้งบริษัทใหม่ลุยเทคคอมพานี ท่ามกลางกระแสคัดค้านหลายฝ่าย ล่าสุด AWN เครือ AIS ร่อนหนังสือถึงประธานบอร์ด กสทช. ขวางดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ยัน กสทช.มีอำนาจเต็มที่

การเร่งปิดดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” กำลังดำเนินการไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางภาวะสุญญากาศของ กสทช. ชุดรักษาการ และกสทช.ชุดใหม่ รวมไปถึงกระแสคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งซูเปอร์บอร์ด กสทช., สภาผู้บริโภค นักวิชาการ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แม้แต่คู่แข่งอย่าง “เอไอเอส” ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยัง ประธานกสทช. ล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคมีมติ อนุมัติดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมผู้ถือหุ้น บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ครั้งที่ 1/2565 ได้อนุมัติดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการก่อตั้งบริษัท เทคโนโลยี-โทรคมนาคม ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับดิจิทัลของประเทศ นำเสนอบริการใหม่ให้กับลูกค้า และเร่งการพัฒนาทักษะของบุคลากรที่พร้อมให้บริการลูกค้ายุคใหม่

 

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่าบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคมที่จะจัดตั้งขึ้น จะนำเสนอบริการ 5G ด้วยคุณภาพเครือข่ายที่ครอบคลุมการใช้งาน ความน่าเชื่อถือ ความเร็ว ตลอดจนบริการที่เน้นคุณค่าพร้อมการดูแลลูกค้าที่ดีขึ้น

 

ขณะที่ นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ (4 เม.ย.65) มีมติอนุมัติดีลควบรวมกิจการทรูและดีแทค ในการนี้ บริษัทฯขอขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจในศักยภาพและเข้าใจความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจท่ามกลางความท้าทายของตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

โดยบริษัทเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่จากดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” จะเป็นผู้นำไม่เพียงแต่เครือข่ายบริการโทรคมนาคมคุณภาพสูง แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน การศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในไทย สร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุดสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งในด้านโครงข่าย นวัตกรรม และการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

คลื่นเเทรก “ทรูxดีเเทค” AIS-NT โดดขวาง บี้ กสทช.ฟันอำนาจเหนือตลาด

 

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดยในระหว่างนี้ ทรูยังให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องตามปกติเช่นเดิม

เอไอเอสยื่นกสทช.เบรกดีล

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหารบริษัทแอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด(AWN) ในเครือ AIS ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียจากดีลควบรวมกิจการ“ทรูและดีแทค”

 

โดยส่วนหนึ่งของหนังสือดังกล่าวระบุว่า ดีลควบรวมกิจการ "ทรู-ดีแทค"ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย เพราะการปล่อยให้เกิดดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” จะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียต่อการแข่งขัน โดยเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 ราย ในสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ที่แม้ยังไม่มีการควบรวม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศก็มีการกระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หาก กสทช..อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจก็จะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 53.4 ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด

 

นอกจากนี้ ดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”จะเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก แม้แต่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติหรือ NT ทิ่เป็นผู้ให้บริการอยู่ก่อน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ก็ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก “ที่สำคัญการอนุญาตให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช.ได้กำหนดจำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถประมูลถือครองได้ หากมีการอนุญาตให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการกัน จะทำให้คลื่นความถี่ย่านต่างๆ ถือครองโดยบริษัทลูกอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของของบริษัทแม่เดียวกันมีจำนวนที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด”

 

ยัน กสทช.มีอำนาจเต็มที่

 

ในหนังสือของ AWN ยังระบุด้วยว่า กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญฯพ. ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ...และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

 

นอกจากนี้ มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งสองมาตราข้างต้น กสทช.จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งยังต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซี่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เห็นได้จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันที่มีมากกว่า 120 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่จำนวน 66. 7 ล้านคน

 

ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27(11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน รวมทั้งป้องกันหรือขจัดการกีดกัน หรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค และจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมตามแนวนโยบายแห่งรัฐ